ภาวะเสี่ยงตายของกระต่ายเด็กจากโรคทางเดินอาหาร ตอนที่ 1 กลุ่มโรคที่เกิดจากอาหาร (Diet-Related Diseases)

5112 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ภาวะเสี่ยงตายของกระต่ายเด็กจากโรคทางเดินอาหาร  ตอนที่ 1 กลุ่มโรคที่เกิดจากอาหาร (Diet-Related Diseases)

เรื่อง ภาวะเสี่ยงตายของกระต่ายเด็กจากโรคทางเดินอาหาร

ตอนที่ 1 กลุ่มโรคที่เกิดจากอาหาร (Diet-Related Diseases)

โดย ผศ.น.สพ.ดร.สมโภชน์ วีระกุล

เป็นโรคที่มีความสำคัญมากที่สุดในโลก รวมทั้งในประเทศไทย

ปัจจุบันการเลี้ยงกระต่ายมีเพิ่มขึ้นอย่างมาก การสร้างโฆษณาชวนเชื่อย่อมเพิ่มมากขึ้น ทั้งที่การพัฒนาด้านอาหารกระต่ายเชิงสุขภาพมาถึงจุดพัฒนาค่อนข้างมาก แต่อาหารประเภทเดิมแบบย้อนยุคเน้นแป้งสูง โปรตีนสูง และกากอาหารต่ำก็ยังคงมีอยู่ และยังมีผู้พัฒนาออกมาอีกไม่น้อยเพื่อใช้ในการบำรุงขนและให้รูปร่างอ้วนกลม หน้ากลมขนฟู ทำให้นึกถึงวงการม้าในอดีตที่ใช้อาหารข้นให้กินด้วยปัจจัยเพื่อเพิ่มคุณลักษณะที่เจ้าของต้องการ นั่นย่อมหมายถึงการเกิดโรคที่เกิดจากอาหารก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างไม่มีวันจบสิ้น

ในที่นี้จะยกตัวอย่างโรค 2 กลุ่มที่เกิดขึ้นได้เสมอ โดยมักมีอาหารเป็นปัจจัยเสี่ยง

     ภาพประกอบ เป็นภาพรังสีวินิจฉัยของกระต่ายที่เกิดภาวะลำไส้อักเสบรุนแรง ในกรณีนี้จะพบการสะสมของแก๊สในส่วนของกระเพาะหมักเป็นแบบเฉพาะที่ (localized ileus) แม้จะพบกระจายในส่วนอื่นๆ ผนังของกระเพาะหมักหนาตัวขึ้น เมื่อทำการชันสูตรจะพบการอักเสบและมีการผลิตมูกมากในกระเพาะหมักและลำไส้ใหญ่ส่วนต้น กระต่ายมักจะมาพบสัตวแพทย์ด้วยอาการท้องเสียก่อนหน้าอาการไม่ขับถ่ายเลย ท้องกางและแสดงอาการเจ็บปวดช่องท้องรุนแรง ประวัติมีความเสี่ยงด้านการจัดการอาหาร

ทำความเข้าใจกับเรื่องพื้นฐาน และหน้าที่ในการปกป้องตนเองของกระต่ายกันเสียก่อน คุณทราบหรือไม่ว่า?

1    ระดับความเป็นกรดด่าง (pH) ในทางเดินอาหารของลูกกระต่ายหรือกระต่ายโตที่เริ่มกินอาหารหยาบแล้ว จะมีความเป็นกรดเท่ากับ 1-2  เนื่องจากการหมักอาหาร ทำให้จุลชีพที่ชอบกรดเท่านั้นจึงจะอาศัยอยู่ได้ และพวกก่อโรคมักจะถูกยับยั้งการเจริญเติบโต เมื่อมีการรบกวนความเป็นกรดด่างในทางเดินอาหาร เช่น การเปลี่ยนแปลงอาหารทันทีทันใด หรืออาหารกลุ่มผลไม้หรือขนมที่ใช้เสริม จึงทำให้ระดับพีเอชแกว่ง เชื้อจุลชีพที่เป็นประโยชน์ไม่สามารถทนอยู่ได้ ทำให้ตายลง ขณะที่แบคทีเรียก่อโรคเจริญขึ้นได้มากขึ้น เรียกภาวะนี้ว่าเกิด “dysbiosis” หรือเสียสมดุลจุลชีพในทางเดินอาหาร

 

ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังการให้อาหาร


2    ในลูกกระต่ายที่ยังกินนมแม่ จะมีความเป็นด่างในทางเดินอาหารสูงกว่า (pH = 5.0-6.5) และเป็นช่วงที่จุลชีพก่อโรคเจริญได้ดี แม่กระต่ายจึงมีการผลิตน้ำมันที่มีระดับไขมันสูงมาก เรียกว่า “milk oil” ขึ้น จากนมของแม่รวมกับเอนไซม์ในทางเดินอาหาร ซึ่งมีคุณสมบัติในการต่อต้านแบคทีเรียก่อโรคต่างๆ คล้ายกับระบบภูมิคุ้มกันในลูกสัตว์อื่นๆ ถ้าลูกไม่ได้กินนมแม่กระต่ายเพราะหย่านมเร็ว หรือไปกินนมชนิดอื่นที่ขาดการระมัดระวัง จึงทำให้ทางเดินอาหารเป็นด่างและพวกเชื้อโรคจึงเกิดขึ้นได้ง่าย ทำให้เกิดลำไส้อักเสบรุนแรงและตายในที่สุด


ดังนั้น จึงให้ระมัดระวังการหย่านมเร็ว และการเลือกนมมาใช้ทดแทน


3    อาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตหรือแป้ง ซึ่งอาจมาจากอาหารเม็ดที่ทำมาจากธัญพืชเพื่อเร่งโตเร่งขน ขนมหรือการกินอาหารเม็ดปริมาณมาก จะดูดซึมผ่านกระเพาะอาหารได้โดยตรง ทำให้กระต่ายได้รับพลังงานมากขึ้น ผลที่ได้รับ คือ กระต่ายอาจจะไม่กินมูลอ่อนหรือมูลพวงองุ่น (cecotroph) จะทำให้ขาดพลังงานส่วนที่จำเป็นจริงๆ ขาดกรดอะมิโนและกรดไขมันที่จำเป็น และขาดไวตามินและแร่ธาตุที่จำเป็น

นอกจากนี้อาหารพวกคาร์โบไฮเดรต จะถูกเชื้อครอสตริเดียม Clostridium นำไปใช้ในการสร้างสารพิษในทางเดินอาหาร (iota toxin)

 
ดังนั้น จึงต้องระวังอาหารพวกแป้ง โปรตีน และไขมันสูง หรือให้อาหารเม็ดที่ไม่เหมาะสมและในปริมาณมาก


4    กระต่ายไม่สามารถย่อยนมจากวัวได้ดี ซึ่งมีน้ำตาลแลคโตสเป็นส่วนประกอบ การให้นมวัวอาจจะเกิดปัญหาได้ และนมเปรี้ยวสามารถเป็นอันตรายได้

 

ดังนั้น นมไม่ใช่อาหารเสริมที่ดี แม้กระทั่งโยเกิร์ต หรือผลิตภัณฑ์ที่มีนมเป็นองค์ประกอบ

 

5    หากได้รับอาหารที่มีกากอาหารต่ำ จะมีพฤติกรรมหลายอย่างเปลี่ยนแปลง เช่น การกินพรม กินขนตัวเอง การแทะสิ่งแปลกปลอม เป็นต้น เชื่อว่าทดแทนกากอาหารที่ไม่เพียงพอ แต่กลับสร้างการอุดตันในทางเดินอาหารหรือกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของทางเดินอาหารได้

กระต่ายต้องการกากอาหารสูงมาก เป็นชนิดลิกนินและเซลลูโลส (lignocellulose) ซึ่งย่อยไม่ได้ เพื่อให้เกิดการบีบตัวของทางเดินอาหารอย่างสมบูรณ์ และช่วยป้องกันโรคทางเดินอาหารต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ

ดังนั้น อาหารกระต่ายที่จะคอยปกป้องลูกกระต่ายได้ จึงควรมีกากอาหารหรือเยื่อใยอาหารชนิดนี้อยู่ในระดับที่สูงเพียงพอ ปัจจุบันจึงมีการผลิตอาหารมาตรฐานที่มีหญ้าหรืออัลฟัลฟ่าเป็นวัตถุดิบหลักในอาหาร และมีการพัฒนาต่อเนื่องออกไปอีก จึงไม่ควรหวนกลับไปกินอาหารประเภททำลายสุขภาพที่ทำมาจากธัญพืชหรือปลาป่นแต่อย่างเดียว


(1)     โรคลำไส้อักเสบในลูกกระต่าย (Enteritis and Enterotoxaemia)

เกิดจากการติดเชื้อ ซึ่งสามารถเพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็วในทางเดินอาหาร

อาการของลำไส้อักเสบ ที่เรียกว่า “Enteritis complex” จะพบอาการตั้งแต่มูลนิ่ม ถ่ายเหลวจนไปถึงอาการทางประสาทเมื่อเกิดพิษจากเชื้อ หรือเกิดติดเชื้อในกระแสเลือดและตาย ซึ่งเป็นกลุ่มอาการที่พบได้เสมอๆ

ดังนั้น การเฝ้าสังเกตการขับถ่ายของลูกกระต่ายเป็นประจำทุกวันจึงสำคัญ มูลแข็งที่ดีต้องมีเม็ดขนาดเท่าๆกัน และมีปริมาณมากกว่า 150 ถึง 450 เม็ดต่อวัน ขึ้นกับชนิด อายุ และขนาดตัว หากพบการถ่ายมูลอ่อน เป็นโคลน หรือไม่ขับถ่าย ควรรีบไปพบหมอเพื่อตรวจและรับคำแนะนำการใช้อาหารที่ถูกต้อง

ปัจจัยที่เป็นสาเหตุโน้มนำ ได้แก่ การเปลี่ยนอาหาร การใช้ยา ความเครียด พันธุกรรมที่ทำให้หน้าที่ของทางเดินอาหารผิดปกติ ซึ่งจะไปรบกวนจุลชีพประจำถิ่น ระดับความเป็นกรดด่าง และการบีบตัวของทางเดินอาหาร ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคืออาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตจากธัญพืชหรือแป้งสูง และกากอาหารต่ำ

สาเหตุ เกิดจากพิษ iota-like toxin จากเชื้อ Clostridium spiroforme เดิมเคยเชื่อว่า C. dificile และ C. perfringens เป็นสาเหตุเช่นกัน แต่ปัจจุบันเชื่อว่าเกิดจากเชื้อตัวแรก พบมากในลูกกระต่ายเพิ่งจะหย่านม (อายุ 3-6 สัปดาห์) เพราะว่ายังไม่มีการเจริญของจุลชีพประจำถิ่น (normal flora) มากเพียงพอ และเป็นช่วงที่ความเป็นกรดด่างของทางเดินอาหารยังสูง (5-6.5) ทำให้เชื้อโรคเจริญได้ดี

ในกระต่ายอายุมากจะทนกว่า แต่ความเครียดก็ทำให้เกิด dysbiosis ได้ จะพบการเปลี่ยนแปลงจุลชีพของกระเพาะหมัก (cecum) การติดเชื้อใน cecum ของแม่ จะทำให้ผลิตพิษไปสู่น้ำนมได้ (milk enterotoxaemia) และผ่านไปยังลูกทางน้ำนม

ในระดับที่รุนแรงยิ่งขึ้น ระดับความเป็นพิษจากเชื้อโรคหรือ “Enterotoxaemia” เป็นตัวชี้ให้เห็นว่าทางเดินอาหารเกิดภาวะเสียสมดุลจุลชีพหรือ “dysbiosis” รุนแรงกว่าการเกิดลำไส้อักเสบ (enteritis) ทั่วไป



อาการเมื่อเกิดพิษ เกิดอาการซึมอย่างมาก เบื่ออาหาร ท้องเสียเป็นสีน้ำตาล เหลวเป็นน้ำ อาจจะมีเลือดหรือมูกปน และตายหลังจากพบอาการใน 24-48 ชั่วโมงเท่านั้น

ในรายเรื้อรัง อาจจะพบท้องเสียชั่วคราว เบื่ออาหาร น้ำหนักลด

ผลการชันสูตร พบจุดเลือดออกในทางเดินอาหาร โดยเฉพาะกระเพาะหมัก และอาจจะพบที่ส่วนปลายของกระเพาะหมัก และลำไส้ใหญ่ส่วนต้น ยังพบเนื้อเยื่อสร้างใหม่และมูกมากในกระเพาะหมัก

(2)       โรคลำไส้อักเสบเป็นมูก (Mucoid Enteritis)

เป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกกระต่ายอายุช่วง 7-14 เดือน ป่วยและตายมาก

อาการ เบื่ออาหาร ซึม น้ำหนักลด เกิดการอุดตันของกระเพาะหมัก และเกิดการผลิตมูกออกมามาก

สาเหตุ เกิดจากการผลิตกรดมากเกินไปในกระเพาะหมัก เนื่องจากอาหารที่มีแป้งหรืออาหารกลุ่มให้พลังงานปริมาณมาก แต่กากอาหารต่ำ การที่ทางเดินอาหารผลิตกรดมากเกินไป ผนังทางเดินอาหารจำเป็นต้องผลิตมูกมากเพื่อทำหน้าที่ป้องกันผนังกระเพาะหมักและลำไส้ไม่ให้ถูกทำลายโดยกรด โดยมูกจะบัฟเฟอร์กรดให้อ่อนลง แต่หากมีมากเกินไปจะไม่สามารถปกป้องทางเดินอาหารได้ และยังเป็นสาเหตุให้พบมูกจำนวนมากในทางเดินอาหาร และเกิดการเสียสมดุลจุลชีพเกิดขึ้นได้ด้วย

นอกจากนี้ การที่ความเป็นกรดด่างในทางเดินอาหารเปลี่ยน อาจเกิดได้จากการผลิตหรือการดูดซึมกรดไขมันอิสระเปลี่ยนแปลง หรือมีการหมักพวกคาร์โบไฮเดรตมาก จะไปลดปริมาณของจุลชีพประจำถิ่น และไปกระตุ้นการสร้างมูกในกระเพาะหมักและลำไส้ใหญ่มาก

การได้รับอาหารที่มีกากอาหารต่ำเป็นระยะเวลานาน เช่น จากอาหารเม็ดทั่วไปที่ไม่ได้คำนึงถึงระดับกากอาหารที่เพียงพอ หรือการกินหญ้าไม่พอ จะมีผลให้การบีบตัวของทางเดินอาหารลดลง เกิดการเคลื่อนตัวช้าอันส่งผลให้เกิดลำไส้อักเสบตามมาหลังภาวะลำไส้อืดในลูกกระต่าย ซึ่งมักจะเกิดลำไส้อักเสบอย่างรุนแรงมากกว่ากระต่ายโตที่เกิดภาวะลำไส้อืด

การป้องกัน โดยให้อาหารกากอาหารสูง และมีคาร์โบไฮเดรตต่ำ

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้