อัลฟัลฟ่าอันตรายจริงหรือ และวิธีการกินอัลฟัลฟ่าในช่วงที่เป็นกระต่ายโต

493 จำนวนผู้เข้าชม  | 

อัลฟัลฟ่าอันตรายจริงหรือ และวิธีการกินอัลฟัลฟ่าในช่วงที่เป็นกระต่ายโต

“อัลฟัลฟ่าอันตรายจริงหรือ และวิธีการกินอัลฟัลฟ่าในช่วงที่เป็นกระต่ายโต”
ผศ.น.สพ.ดร.สมโภชน์ วีระกุล


เพราะกระต่ายเลี้ยงจะมีปัญหามวลกระดูกบาง ไม่แข็งแรง และหักง่าย หรือมีผลทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง อัตราเจริญต่ำ ฟันอ่อนแอและเกิดการเจริญของเคลือบฟันต่ำ เพราะการขาดแคลเซียมจากอาหาร เราเองก็มีความพยายามและอยากเสริมแคลเซียม แต่ไม่กล้าให้อัลฟัลฟ่าหรือแคลเซียมจากแหล่งอื่นๆ เพราะกลัวจะทำให้เกิดนิ่วหรือปัสสาวะขุ่น ยิ่งหมอหรือการสื่อสารรอบข้างเตือนกันมากให้ระวัง ทั้งเข้าใจถูกและผิด แล้วจะทำกันอย่างไร


แหล่งของแคลเซียมที่ดีและปลอดภัยคือ อัลฟัลฟ่า และมีการใช้อาหารเม็ดที่มีเยื่อใยอาหารสูงก็ถือว่าใช้ได้ แต่ต้องกินในปริมาณจำกัด และอาหารเม็ดมักผลิตให้มีแคลเซียมต่ำตามสูตรของ NRC ซึ่งปัจจุบันอาจไม่เพียงพอ
หญ้าแห้งส่วนใหญ่จะมีแคลเซียมสะสมร้อยละ 0.28-0.75 ขณะที่อัลฟัลฟ่ามีมากกว่าที่ร้อยละ 1-4.39 อาหารเม็ดส่วนใหญ่จะมีแคลเซียมไม่เกินร้อยละ 1 ขณะที่กระต่ายต้องการแคลเซียมจากอาหารประมาณ 500 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 2.5 กิโลกรัม (200 มก/กก) ในกระต่ายโตเต็มวัย ที่ไม่ตั้งท้องเลี้ยงลูก (RDA) ถ้าเป็นช่วงผสมพันธุ์ ตั้งท้อง เลี้ยงลูกต้องเพิ่ม 2-5 เท่า บางรายงานกล่าวว่าอาหารควรมีระดับของแคลเซียมร้อยละ 0.22 กรัม หรือ 220 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 100 กรัม สำหรับภาวะสมดุล นั่นหมายถึงกระต่ายหนัก 1 กิโลกรัมต้องกินอาหารเม็ดถึง 100 กรัม แต่หากต้องการเพิ่มระดับแคลเซียมในกระดูกและเพิ่มอัตราเจริญเติบโต ในอาหารควรมีแคลเซียม 350-400 มิลลิกรัมกรัมต่ออาหาร 100 กรัม


ขณะที่อาหารเม็ดที่เหมาะสม (เยื่อใยอาหารสูง) จะแนะนำให้เพียงวัน 20-40 กรัม (ประมาณ 2-4 ช้อนโต๊ะ) เฉลี่ย 25 กรัม ต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม (RSPCA) ซึ่งจะได้รับแคลเซียมจากอาหารเม็ดประมาณ 0.25 กรัม (250 มิลลิกรัม) ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการแคลเซียม ในกระต่ายหนักหนึ่งกิโลกรัม แต่อาหารเม็ดส่วนใหญ่ใส่แคลเซียมในสูตรระดับที่ต่ำ หรือเพียงร้อยละ 0.2 (เลียนแบบหญ้า) เท่ากับการให้อาหารเม็ดที่ปริมาณเท่ากัน จะขาดแคลเซียมอยู่ 4 ใน 5 ส่วน ถ้าจะเลือกใช้อาหารเม็ดเสริมก็ต้องเป็นกลุ่มอาหารเม็ดที่กินแทนหญ้าได้มากขึ้น คือในระดับ 80 กรัมขึ้นไปต่อวันในกระต่ายหนัก 1 กิโลกรัม (ร่วมกับการกินหญ้า เพราะในหญ้ามีแคลเซียมอยู่) ซึ่งอาหารเม็ดบางชนิดสามารถทำได้ ผลิตมาเพื่อทดแทนหญ้าด้วยเยื่อใยจากหญ้าและมีระดับสูง และใส่แคลเซียมตามหลักการใหม่ที่ร้อยละ 0.6-1 (ideal diet) แต่ยังเกิดปัญหาเรื่องการช่วยสึกของฟันได้
หญ้าแห้งก็มีระดับแคลเซียมไม่เพียงพอต่อความต้องการ อาหารเม็ดบางชนิดมีระดับแคลเซียมที่ดีแต่ยังต้องกินในปริมาณจำกัดอัลฟัลฟ่าจึงเป็นทางเลือกหลักในการ แต่จะใช้เสริมอย่างไรและเมื่อไรควรเสริมหรืองด?
การเสริมอัลฟัลฟ่าทุกวัน และการเสริมเป็นระยะๆ ทำอย่างไร


ตามธรรมชาติที่กระต่ายเลือกกินได้ จะพบการกินพืชหลากหลาย จึงมักไม่พบการเกิดการขาดแคลเซียม รวมทั้งโอกาสการได้รับวิตามินดี เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสมดุลแคลเซียม ลองอ่านบทความเรื่องแคลเซียมที่เคยเขียนให้ได้อ่านไปกันก่อนหน้านี้


เอกสารจำนวนมากมายจะเขียนตามๆกันไปและสัตวแพทย์ก็มักจะสื่อสารทางเดียวกันให้งดการใช้อัลฟัลฟ่าพอเป็นกระต่ายโต แต่แท้จริงใช้เสริมได้และจำเป็นมากขึ้นในระยะตั้งท้อง เลี้ยงลูกและช่วงเจริญเติบโต รวมทั้งตัวที่มัปัญหาฟันไม่พัฒนา หรือพบกระดูกบางจากการเอกซเรย์แล้ว (osteopenic vertebral compression) ในกระต่ายเลี้ยงในอเมริกาพบรายงานให้พืชที่มีสัดส่วน ดังนี้ อัลฟัลฟ่าร้อยละ 32 ต่อหญ้าแห้งร้อยละ 15 ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าหลักการนี้ยังขาดเหตุผลรองรับ เว้นแต่นำไปใช้ผลิตสูตรอาหาร เพราะมีวัตถุดิบชนิดอื่นร่วมด้วย หรือมีสัดส่วนของหญ้าและอัลฟัลฟ่าเกินร้อยละ 50 เมื่อนำมาใช้เป็นอาหารเม็ดก็ต้องจำกัดการกินเพราะจะได้รับแป้งมากกว่าระดับที่เหมาะสม โดยหากจะประเมินกันให้ตามปริมาณแคลเซียมที่มีในอัลฟัลฟ่า พบว่าในแต่ละวันสามารถเสริมอัลฟัลฟ่าเพื่อเสริมแคลเซียมโดยตรงที่วันละ 20 กรัม (หรือเสริม alfalfa pellets 2 ช้อนโต๊ะหรือสแน็คอัลฟัลฟ่า 1-2 ชิ้น) จะได้แคลเซียมประมาณ 0.2 กรัม (200 มิลลิกรัม) ต่อกระต่ายหนักหนึ่งกิโลกรัม หรือ 500-600 มิลลิกรัมต่อกระต่าย 2.5 กิโลกรัม (500 มก/2.5กก) และเพิ่มขึ้น 2-5 เท่าในช่วงผสมพันธุ์ ตั้งท้อง และเลี้ยงลูก และให้หญ้าเป็นอาหารหลักตามปกติ


หรือพิจารณาให้เป็นช่วงๆ เหมือนของกินเล่น เช่น เสริมปริมาณมากขึ้น ทุก 2-3 วัน หรือสัปดาห์ละครั้งในปริมาณมาก เป็นการเสริมได้ทั้งโปรตีน แคลเซียม และส่งเสริมความสุข อาจให้โดยใช้อัลฟัลฟ่าโดยตรง หรือสแน็คที่ทำมาจากอัลฟัลฟ่าก็ช่วยส่งเสริมความน่ากินและความสุขได้มากขึ้น


ข้อสังเกต มากหรือน้อยเกินไป ต้องทำงานร่วมกันระหว่างสัตวแพทย์และผู้เลี้ยง แม้ว่าจะแก้ไขภาวะ osteopenic vertebral compression ไม่ได้ แต่ทำให้กระดูกลดปัญหามวลกระดูกบางและแข็งแรงขึ้นได้ ปริมาณแคลเซียมที่แนะนำเสริมต่อวันอาจไม่เพียงพอในบางรายหรือมากเกินไปในบางราย ให้ประเมินจากความแข็งแรงของกระดูกจากภาพเอกซเรย์ หรือชะลอความเสื่อมของกระดูกจากเดิมได้ แม้ว่าจะมีการตรวจความแข็งแรงของกระดูกที่แม่นยำกว่านี้ในห้องปฏิบัติการ แต่ไม่สามารถมาใช้ได้จริงในคลินิก การตรวจเลือดวัดค่าระดับแคลเซียมในเลือดอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดแต่ทำได้ และมักจะพบปกติในระดับ 2.2-3.0 mmol/l บางรายงานสูงถึง 3.25-3.75 และสูงกว่าสัตว์ชนิดอื่นอย่างมาก (ชนิดอื่น 1.25-1.6 mmol/l) และหากในปริมาณที่สูงเกินไปจะพบปัสสาวะขุ่น (bladder sludge) ให้ประเมินการกินน้ำต่อวัน ซึ่งสัมพันธ์กับการกินน้ำน้อยมากกว่าการได้รับแคลเซียมมากเกินไป กระต่ายควรได้รับน้ำวันละ 50-150 ซีซีต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัม จะช่วยป้องกันการเกิดนิ่วได้ ซึ่งได้รับการยอมรับกันมากขึ้นว่าเป็นปัญหาสำคัญ แต่ถ้าได้รับน้ำสมบูรณ์แล้วยังพบปัสสาวะขุ่น ซึ่งเกิดขึ้นได้จากได้รับแคลเซียมมากเกินไปจริง ให้ทำการงดการใช้อัลฟัลฟ่าจนเห็นว่าปัสสาวะกลับมาใสเป็นปกติ และค่อยเริ่มปรับขนาดการกินและสังเกตกันอีกรอบจนกระทั่งสู่สมดุล เพราะแคลเซียมไม่เสริมก็ไม่ได้


ในกรณีเกิดนิ่วและปัสสาวะขุ่น ซึ่งทำให้เกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบ และไตได้รับบาดเจ็บได้ มักจะเกิดในกระต่ายในช่วงอายุ 3-5 ปี มักเกิดจากได้รับน้ำไม่เพียงพอ ขาดการออกกำลังกายหรือกิจกรรม อ้วน โรคไต และการได้รับอาหารที่มีแคลเซียมสูง และอัลฟัลฟ่าก็มักจะเป็นนักโทษหรือแพะรับบาป โดยชนิดนิ่วที่พบบ่อย 3 ชนิดในกระต่ายจะเป็นแคลเซียมคาร์บอเนต ทั้งโมโนไฮเดรตและแอนไฮดรัส และอีกชนิด คือ แอมโมเนียม แมกนีเซียม ฟอสเฟต ขณะที่ชนิดแคลเซียมในอัลฟัลฟ่าเป็นแคลเซียมออกซาเลตถึงร้อยละ 20-33 และเป็นปัญหาที่พบรองลงมาจากนิ่วชนิดอื่น และบางรายงานกล่าวว่าแคลเซียมออกซาเลตที่พบได้ในพืชผัก และอัลฟัลฟ่า ไม่สามารถเมตาบอลิซึมโดยกระต่าย จึงไม่สามารถทำให้เกิดตะกอนและนิ่วในระบบปัสสาวะ (Johnson, 2009) แต่หลายรายงานพบว่ามีความสัมพันธ์กับปริมาณแคลเซียมที่เพิ่มขึ้นในกระแสเลือด ทั้งการดูดซึมและการขับทิ้ง และแคลเซียมคาร์บอเนตซึ่งเป็นตัวสร้างนิ่วและปัสสาวะขุ่นส่วนใหญ่พบในอาหารเม็ด แต่เราก็มักจะไม่ได้ให้อาหารเม็ดกันมากอยู่แล้ว


จากข้อมูลดังกล่าว จึงเห็นว่าอัลฟัลฟ่าเป็นแหล่งแคลเซียมตามธรรมชาติที่ปลอดภัยเมื่อทำการเสริมในปริมาณที่เหมาะสม และควรระมัดระวังปัจจัยเสี่ยงอื่นๆที่ทำให้เกิดนิ่วหรือปัสสาวะขุ่นได้มากกว่า


#กระต่าย #รักษากระต่าย
#กระต่ายขาดแคลเซียม
#นิ่วและปัสสาวะขุ่นในกระต่าย
#การดูแลกระต่าย
#สัตว์Exotic
#โรงพยาบาลสัตว์ขวัญคำ
#EPOFCLINIC

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้