30138 จำนวนผู้เข้าชม |
โรคผิวหนังในกระต่าย
(Common ectoparasitic disease of rabbit)
โดย สพ.ญ.ภาวิดา วิภูสันติ(หมอมิ้ง)
โรคผิวหนังในกระต่ายเกิดได้หลายสาเหตุ เช่น ภาวะภูมิแพ้ ภาวะทุพโภชนาการ ภาวะทางจิต เนื้องอก ไม่ทราบสาเหตุ หรือเป็นมาตั้งแต่กำเนิด แต่ที่พบบ่อยโดยทั่วไป คือ การติดเชื้อปรสิต เชื้อรา และแบคทีเรีย
โดยอาการทางคลินิกที่เจ้าของมักเป็นกังวลและพามาตรวจคือ คัน และขนร่วง อาการเหล่านี้ยังเป็นสิ่งที่ไม่ชัดเจนนัก ซึ่งมีรายงานการสำรวจพบว่ากระต่ายที่ติดเชื้อปรสิตภายนอกมีอายุตั้งแต่ 4 สัปดาห์จนถึง 10 ปี
โรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อปรสิต (Ectoparasite) เช่น ไรขน-ผิวหนัง ไรในหู หรือแม้กระทั่งการติดเชื้อปรสิตชนิดอื่นจากสุนัขและแมว
1.โรคไรขน-ผิวหนัง (Rabbit fur mites)
มีสาเหตุมาจาก Cheyletiella parasitovorax หรือเรียกว่า “walking dandruff” ทำให้เกิดอาการคัน ขนบางลง ผิวแห้ง หรือรังแคสีขาวกระจายทั่วไป ซึ่งโดยปกติกระต่ายไม่ควรมีรังแคบนผิวหนัง เพราะกระต่ายจะทำความสะอาด (grooming) ตัวเองตลอดเวลา แต่หากสังเกตเห็นรังแคอาจเป็นไรขน สัตวแพทย์จะพิจารณาการตรวจโดยขูดตรวจผิวหนัง หรือการใช้สก๊อตเทปใสแปะตรวจ จะสามารถเห็นทั้งตัวไรและไข่ได้
ภาพที่ 1 กระต่ายขนร่วงและมีรังแคบนผิวหนังที่มีสาเหตุมาจากไรขน
ภาพที่ 2 การขูดตรวจผิวหนัง (Skin scrape)
2.โรคไรในหู (Rabbit ear mite)
มีสาเหตุมาจาก Psoroptes cuniculi ทำให้เกิดสะเก็ดบนใบหูด้านนอก ขี้หูหรือสะเก็ดจะหนา และมีการอักเสบ โดยเอาขี้หูไปตรวจก็จะเห็นตัวไร ในบางตัวเกิดช่องหูด้านนอกอักเสบ (otitis externa) หรือบางตัวอาจแสดงอาการทางระบบประสาทเกิดหัวเอียง (Head tilt) เพราะ tympanic membrane ทะลุผ่านเยื่อแก้วหูชั้น media และ externa และไรชนิดนี้สามารถมีชีวิตอยู่รอดภายในธรรมชาติได้นานถึง 21 วัน
ภาพที่ 3 ตัวไรในหู “Psoroptes cuniculi”
(เครดิต : https://www.dechra.co.uk)
ภาพที่ 4 กระต่ายที่มีใบหูด้านนอกมีสะเก็ดหนาที่มีสาเหตุมาจาก Psoroptes cuniculi
(เครดิต: http://medirabbit.com)
3.โรคขี้เรื้อนแห้ง หรือเรียกว่า Sarcoptic mange
มีสาเหตุจาก Sarcoptic scabiei และ Notoedres cati โดยสามารถจำแนกความแตกต่างได้จากก้นของตัวไร ทำให้มีอาการคันอย่างรุนแรง และการกระจายของโรคมักอยู่ตามบริเวณที่มีบนเบาบาง เช่น ใบหู รอบตา รอบปาก หรือแม้กระทั่งรอบอวัยวะเพศ ทำให้เกิดผิวหนังอักเสบที่เป็นตุ่มคันบริเวณรอบหัว คอ และลำตัว สามารถติดต่อไปยังสัตว์ที่สัมผัสใกล้ชิด มีผลต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น เช่น หนูตะเภา เฟอเรต สุนัข แมว และมนุษย์
ภาพที่ 5 บริเวณง่ามเท้าของกระต่ายที่มีลักษณะหนาตัวจากการติดไรขี้เรื้อนแห้ง
(เครดิต: http://www.medirabbit.com)
4.หมัด (fleas)
กระต่ายที่อยู่กับสุนัขหรือแมวอาจถูกสัมผัสกับ Ctenocephalides มีทั้งหมัดกระต่าย “Spilopsyllus cuniculi” หมัดสุนัข “Ctenocephalides canis” และหมัดแมว “Ctenocephalides felis” ซึ่งสามารถเจอในกระต่ายได้ทั้งหมด
ภาพที่ 6 หมัดกระต่าย “Spilopsyllus cuniculi”
(เครดิต: http://britishfleas.myspecies.info)
ปรสิตภายนอกในกระต่ายโดยมักจะเป็นรักษาด้วยยาในกลุ่ม Ivermectin, Selamectin, imidacloprid โดยการเลือกใช้ชนิดของยา ขนาด และปริมาณขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของสัตวแพทย์ และความรุนแรงของอาการนั้นๆ โดยช่วงเวลาการรักษาอยู่ในช่วง 2 ถึง 8 สัปดาห์ หากกระต่ายมีอาการดังที่กล่าวมาข้างต้น แนะนำให้มาพบสัตวแพทย์นะคะ พร้อมแนะนำให้แยกเลี้ยงจากกระต่ายตัวอื่นๆ รวมถึงพาตัวอื่นในบ้านมาหยดยาป้องกันการติดต่อจากปรสิตภายนอก เพื่อสุขภาพขนที่แข็งแรง
ด้วยความปรารถนาดีจาก..โรงพยาบาลขวัญคำ