โรคลงพื้นหรือหน่อเท้าไก่
โดย ผศ.ดร. สมโภชน์ วีระกุล (หมอแก้ว)
เป็นโรคที่พบได้เสมอ เรียกได้หลายชื่อตามแต่ละท้องถิ่น บางครั้งก้เรียกว่าปรวด หรือเรียกอย่างสากลว่า Pododermatitis หรือ Bumble foot disease
มักมีสาเหตุโน้มนำมาจากลักษณะของพื้นกรงหรือคอกที่แข็ง หรือทำจากวัสดุที่สามารถทำให้ได้รับบาดเจ็บ เช่น
- ตาข่ายพลาสติก
- กรงเหล็ก
- การได้รับการกระแทก
- พื้นคอกชื้น
- อายุมาก
- การเลี้ยงหนาแน่น
- รวมทั้งการขาดสารอาหารบางชนิด เช่น ไบโอติน
ลักษณะของอาการ
ระยะแรกฝ่าตีนและอุ้งใต้นิ้วจะบวมแดงร้อนเล็กน้อย ข้อนิ้วและข้อตีนจะบวมได้ อาจพบหรือไม่พบแผลถลอกก็ได้ ไก่จะเริ่มแสดงอาการเจ็บ และไม่ค่อยกล้าลงน้ำหนักลงบนตีนข้างที่เกิด ระยะต่อมาจะเริ่มเห็นแผลหลุมขนาดใหญ่และลึก บางครั้งจะพบว่าอุ้งใต้นิ้วจะมีอาการเห็นชัดก่อน มีการสร้างเคอราตินมากขึ้นในชั้น stratum intermedium หรือพบการสร้างเนื้อเยื่อเกี่ยวพันด้านล่างของบาดแผล ในแผลพบการสร้างหนองและมีแผ่นสะเก็ดปิดสีดำ (scab) แบคทีเรียที่พบมักจะเป็นกลุ่ม Staphylicoccus aureus และ Streptococcus spp. ไก่จะไม่สามารถวางตีนได้ ระยะต่อมรอยโรคจะเริ่มแข็งตัวจากการสร้างเนื้อเยื่อเกี่ยวพันมากขึ้น มีการเจริญของเคอราตินมากเกินไปในชั้นหนังกำพร้า ที่เรียกว่าตาปลา (hyperkeratosis)
ไก่จะวางตีนได้ แสดงอาการเจ็บปวดลดลง หนองจับตัวเป็นก้อน ในหลายรายอาจไม่พบหนอง แต่พบลักษณะตาปลาที่หนังกำพร้า เมื่อเปิดผ่าเข้าไปจะพบก้อนเหมือนเนยแข็ง หรือเนื้อเยื่อเกี่ยวพันลักษณะคล้ายนิ้วมือด้านล่างของบาดแผล ในบางรายที่รุนแรงหรือไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมและมีการติดเชื้อลุกลาม ทำให้เกิดปัญหาโพรงกระดูกอักเสบ (osteomyelitis) ตามมาได้ จำพบบริเวณข้อนิ้วและข้อตีน บางครั้งที่ข้อเข่ามีอาการบวมมาก
การรักษา
ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ทำการวางยาสลบไก่ตามความจำเป็นในการรักษา และทำการล้างบาดแผลและบริเวณโดยรอบให้สะอาด ในรายที่เริ่มมีอาการเพียงบวมร้อนแดงในระยะแรก เรียกว่าระดับ 1
ให้รักษาโดยการทาขี้ผึ้งหรือครีมบำรุงผิวของคนที่มีลาโนลินผสมเป็นเบส จะช่วยรักษาความชื้นในชั้น stratum corneum ยืดอายุของเซลล์ จะป้องกันการเกิดตาปลา แก้ไขพื้นกรง พันอุ้งตีนด้วยวิธี interdigital bandage หรือ ball bandage จนกว่าจะหาย
ในระยะต่อมาที่รอยโรคเริ่มบวมอักเสบมากขึ้นและมีการสร้างตาปลาแล้ว เรียกว่าระดับ 2 ให้ทาด้วยขี้ผึ้งหรือครีมบำรุงผิวของคนที่มีลาโนลินผสม เพิ่มการให้ไวตามินเอในขนาด 100,000 หน่วยต่อน้ำหนักไก่ 1 กิโลกรัม ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ในสัปดาห์แรก 2 ครั้ง สัปดาห์ถัดไปสัปดาห์ละครั้ง และพันอุ้งตีนไว้
หากพบว่ามีการเสื่อมของชั้นเยื่อบุผิว การอักเสบ บวมร้อนแดงอย่างมาก มีบาดแผล อาจพบหนองจากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน และสะเก็ดสีดำปิด เรียกว่าระดับ 3 ให้เปลี่ยนจากขี้ผึ้งเป็นสารผสมระหว่าง dimethylsulphoxide (DMSO) 5 มิลลิลิตร ยาต้านการอักเสบ นิยมใช้ dexamethasone 4 มิลลิกรัม และยาปฏิชีวนะ นิยมใช้ piperacilin 1 กรัม เป็นยาตัวใหม่ ที่เป็นอนุพันธ์ของเพนนิซิลลิน ออกฤทธิ์กว้างคล้ายกับ carbenicillin และ ticarcillin แต่ออกฤทธิ์แรงกว่า 5-6 เท่า ใช้ขนาด 1 กรัม หรืออาจพิจารณาใช้ยาปฏิชีวนะชนิดอื่นแทนก็ได้ เช่น pennicillin ร่วมกับ streptomycin 1 กรัม หรือ chioramphenicol 1 กรัม เป็นต้น ในที่นี้จะเรียกว่า DDA มาจาก DMSO+Dexa+Antibiotic จะช่วยลดการอักเสบ การสร้างเคอราตินในการเกิดตาปลา และรักษาการติดเชื้อเฉพาะที่ ในกรณีการเกิดโรคหูดและตาปลาในคนแพทย์จะใช้ยาที่มีส่วนประกอบของ Fluorouracil, Salicylic acid และ Dimethylsulphoxide โดย flurouracil จะต่อต้านการเจริญเติบโตของเซลล์หูดหรือตาปลา salicylic acid จะช่วยทำให้ผิวหนังที่มีปัญหาหยาบกระด้างมีความอ่อนนุ่ม ทำให้ตัวยาแทรกซึมเข้าดีขึ้น และ dimethysulphoxide จะช่วยละลายตัวยา ป้องกันการเจริญของตาปลาและลดการอักเสบ โดยใช้ป้ายบริเวณรอยโรค ควรระวังเนื้อเยื่อรอบข้างเพราะทำให้ผิวหนังไหม้ได้ ทาวันละ 2-3 ครั้ง ก่อนทาต้องทำความสะอาดรอยแผลเสียก่อน ในบางรายอาจจะต้องตัดเนื้อเยื่อที่ตายแล้วออก และทำการรักษาโดยการป้ายยาต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่ใช้เวลา 6 สัปดาห์ แต่ควรใช้ยาต่ออีก 1 สัปดาห์ หรือจนกว่าจะเห็นผลการรักษา
ในรายที่รุนแรงมากพบเนื้อตาย ฝีและบวมมาก อาจจะพบอาการบวมที่ข้อเท้าและข้อเข่าร่วม เรียกว่าระดับ 4 ให้รักษาเช่นเดียวกับเกรด 3 จนกระทั่งการอักเสบและการติดเชื้อลดลง ค่อยพิจารณาทำการรักษาทางศัลยกรรม
ให้ทำการถ่ายภาพรังสีร่วมเพื่อประเมินการเกิดโพรงกระดูกอักเสบแทรกซ้อน ซึ่งถือเป็นระดับ 5 จัดว่ารุนแรงและพยากรณ์โรคไว้ในระดับเลว
การรักษาทางศัลยกรรม
ให้ทำในระยะที่รอยโรคไม่อักเสบหรือมีอาการไม่รุนแรง แข็งตัว หรือหลังจากการรักษาทางอายุรกรรมในระยะของเกรด 3 ผิวหนังจะไม่บวม กดแล้วไม่แสดงอาการเจ็บ
แต่บางรายอาจไม่ต้องทำศัลยกรรมเลย การทำศัลยกรรมให้เปิดปากแผลโดยแคะเอาสะเก็ดสีดำออก ขูดเนื้อตายและชั้นที่มีลักษณะคล้ายตาปลาออกให้หมด ทำการกัดเกลื่อนด้วยโพวิโดน ไอโอดีน (povidone iodine) เจือจางในสารละลาย 1:100
ก่อนได้รับผลการทดสอบความไวของเชื้อต่อยา
ยาปฏิชีวนะที่สามารถให้เป็นเบื่งต้น เช่น
Enrofloxacin ขนาด 15 มิลลิกรัมต่อไก่หนัก 1 กิโลกรัม
กินหรือฉีดเข้ากล้ามเนื้ออกวันละ 2 ครั้ง (นาน 5 วัน) หรือ
Piperacillin ขนาด 100 มิลลิกรัมต่อไก่หนัก 1 กิโลกรัม
ฉีดเข้ากล้ามเนื้ออก วันละ 2 ครั้ง (นาน 7 วัน) หรือ
Carbenicillin 100-200 มิลลิกรัมต่อไก่หนัก 1 กิโลกรัมล
กินหรือฉีดเข้ากล้ามเนื้ออกหรือเส้นเลือด วันละ 2 ครั้ง (นาน7วันเป็นต้น)
แล้วจึงพิจารณาใช้ยาที่ไวต่อการรักษาทีหลังได้ แล้วทำการป้ายด้วยสารผสม DDA เพื่อลดการสร้างตาปลา การอักเสบ และป้องกันการติดเชื้อ หลังจากนั้นปิดทับด้วยผ้าก็อสที่ชุบด้วย povodone iodine อีกครั้ง ทำ ball bandage พันอุ้งตีนจะดีที่สุด และควรทำการเปลี่ยนผ้าพันแผล 1-2 ครั้งต่อวัน นาน2-4 วัน จนกระทั้งหายบวม ยาปฏิชีวนะควรฉีดต่อเนื่อง 7-10 วัน และหยุด DDA และผ้าก็อสชุบ povidone iodine เมื่อแผลหายบวม การทำ ball bandage ควรทำต่อเนื่อง 6-8 สัปดาห์ ซึ่งระยะการหายจะใช้เวลานาน 4-6 เดือน