69 จำนวนผู้เข้าชม |
ภาวะกระเพาะพักไหม้ (Crop burn)
โดย สพ.ญ. ปัญญ์ชลี มีสายมงคล (หมอกุ๊ก) โรงพยาบาลสัตว์ขวัญคำ
กระเพาะพัก (Crop) คือ ส่วนขยายของปลายหลอดอาหารบริเวณก่อนเข้าช่องอก มีหน้าที่สำหรับสำรองอาหารชั่วคราว ระยะเวลาที่อาหารอยู่ในกระเพาะพักจะขึ้นอยู่กับปริมาณของอาหาร (โดยเฉลี่ยประมาณ 4-6 ชั่วโมง) จากนั้นอาหารจะเคลื่อนที่สู่กระเพาะแท้ (proventriculus) เพื่อทำการย่อยให้เกิดพลังงานต่อไป
สาเหตุการเกิดภาวะกระเพาะพักไหม้
ภาวะกระเพาะพักไหม้ เกิดจากการป้อนอาหารที่มีอุณหภูมิสูง (เกิน 40 องศาเซลเซียส) จึงทำให้เกิดความเสียหายต่อเนื้อเยื่อของกระเพาะพัก และเกิดอาการผิดปกติแสดงออกมาให้เห็นได้ ภาวะนี้มักพบในนกลูกป้อนเนื่องจากเป็นวัยที่ต้องให้อาหารผ่านการป้อนเป็นหลัก จึงมีโอกาสเกิดภาวะนี้ได้มาก แต่ก็สามารถพบในนกโตได้เช่นกันหากมีการป้อนอาหารที่อุณหภูมิสูงเกินไป
อาการที่พบ
ช่วงแรกนกอาจไม่แสดงอาการใดๆ แต่หากมีความรุนแรงมากขึ้น อาจพบรอยช้ำที่ผิวหนังบริเวณกระเพาะพัก อาหารเคลื่อนตัวผ่านกระเพาะพักช้ากว่าปกติ(นานกว่า 6 ชั่วโมง) ซึม สำรอกอาหาร น้ำหนักลดจากการขาดพลังงาน และมีโอกาสป่วยทางระบบอื่นๆตามมา กรณีรุนแรงมากจนกระเพาะพักทะลุ อาจพบสะเก็ดแผลปกคลุมที่ผิวหนังบริเวณกระเพาะพักที่รั่ว หรือเห็นอาหารรั่วออกมาสู่ภายนอกหลังป้อนอาหาร ซึ่งในบางกรณีอาจใช้เวลาหลายวันกว่าเจ้าของสัตว์จะสังเกตพบการรั่วของอาหาร
การรักษา
กรณีไม่รุนแรง พิจารณาให้ยากลุ่มต้านการอักเสบและยาปฏิชีวนะตามสมควร ในกรณีที่มีภาวะกระเพาะพักเคลื่อนตัวช้าจะพิจารณาใช้ยากระตุ้นทางเดินอาหารส่วนต้นเพิ่มเติม แต่หากรุนแรงถึงขั้นกระเพาะพักทะลุแล้ว จะพิจารณาศัลยกรรมแก้ไขรูรั่วดังกล่าว การพยากรณ์โรคขึ้นอยู่กับสภาพสัตว์ขณะนั้นรวมถึงความเสียหายของเนื้อเยื่อกระเพาะพักในนกแต่ละตัว