รู้ได้อย่างไรว่าสัตว์เลี้ยงของเราเป็นโรคหัวใจ

65 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รู้ได้อย่างไรว่าสัตว์เลี้ยงของเราเป็นโรคหัวใจ

รู้ได้อย่างไรว่าสัตว์เลี้ยงของเราเป็นโรคหัวใจ
.
หัวใจไม่เคยหยุดพักการทำงานตลอดชีวิตแม้ขณะนอนหลับ เพราะมีหน้าที่สำคัญต่อร่างกาย คอยสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆเพื่อให้เกิดการทำงานของร่างกายที่เป็นปกติ เมื่อเกิดความผิดปกติในการทำงานของหัวใจจึงส่งผลต่อเนื่องไปยังระบบต่างๆได้มากมาย
.
หัวใจในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีลักษณะคล้ายมนุษย์ คือประกอบไปด้วย ห้องหัวใจ 4 ห้อง และลิ้นหัวใจ 4 ลิ้น ทำงานโดยอาศัยความต่างของแรงดันเลือดและการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจเป็นจังหวะ เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนเลือดในร่างกายขึ้น
.
โรคหัวใจที่พบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สามารถพบได้ทั้งความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด (Congenital heart diseases) ซึ่งเป็นลักษณะการพัฒนาของตัวอ่อนที่ไม่สมบูรณ์ หรือความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายหลัง (Acquired heart diseases) ซึ่งมักเป็นโรคของความเสื่อมตามอายุ นอกจากนี้ยังสามารถแบ่งประเภทของความผิดปกติได้จากลักษณะความผิดปกติที่เกิดขึ้น ได้เป็น โรคลิ้นหัวใจ (Valvular diseases) และโรคกล้ามเนื้อหัวใจ (Myocardial diseases)
.
เมื่อสัตว์มีปัญหาโรคหัวใจ จะส่งผลให้ระบบไหลเวียนเลือดผิดปกติ เกิดการคั่งเลือดในระบบหลอดเลือด สัตว์อาจะแสดงอาการเหนื่อยหอบง่าย ไม่ทนต่อการออกแรง เป็นลม และในรายที่มีความรุนแรงของโรคมาก มักจะพบการท่วมของน้ำเข้าสู่ถุงลมปอด ช่องอก ช่องท้อง บวมน้ำในส่วนต่างๆของร่างกายได้ เรียกภาวะนี้ว่า “ภาวะหัวใจล้มเหลว (Congestive heart failure)” ซึ่งมีอัตรายถึงชีวิต นอกจากนี้ยังอาจส่งผลถึงระบบอวัยวะอื่นๆที่สำคัญต่อมาได้ เช่น ภาวะตับวาย ภาวะไตวาย เป็นต้น
.
การวินิจฉัยโรคหัวใจในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ทำได้โดย ซักประวัติอาการ ตรวจร่างกาย ตรวจเลือด X-ray ช่องอก อัลตราซาวน์หัวใจ (Echocardiography) ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) ซึ่งต้องใช้สัตวแพทย์ที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบหัวใจในการแปลผลการตรวจวินิจฉัย
.
การรักษาโรคหัวใจในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จะเป็นการรักษาทางอายุรกรรมเป็นหลัก คือใช้ยาเพื่อควบคุมอาการต่างๆ สัตวแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจจะเลือกใช้ยาตามข้อมูลกลไกยาและผลจากการศึกษาที่มี ณ ปัจจุบัน ร่วมกับการประเมินสภาวะสัตว์ในแต่ละตัวประกอบกัน ดังนั้นจึงเป็นการปรับยาตามแต่เฉพาะตัวสัตว์ป่วยเป็นรายๆไป(Tailor-made) นอกจากนี้ยังมีการรักษาโดยอาศัยการศัลยกรรมแก้ไขได้ในโรคหัวใจบางโรคด้วย
.
การตรวจประเมินเพื่อคัดกรองโรคหัวใจเป็นประจำ ทำให้สามารถเฝ้าระวัง และชลอความเป็นไปของโรคได้ในรายที่พบโรคระยะเริ่มต้น หากมีความกังวลเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงของท่าน โปรดติดต่อสัตวแพทย์เฉพาะทางเพื่อรับคำปรึกษาที่เหมาะสม
.
ด้วยความปรารถนาดีจากหน่วยโรคทรวงอก โรงพยาบาลสัตว์ขวัญคำ
สพ.ญ.ดร.รัตติกาล วรหล้า (หมอไวท์)
น.สพ.จิรสิน จินตนาภูษิต (หมอเจเจ)
สพ.ญ.ชนิกานต์ อุณหนันท์ (หมอแต๊งกิ้ว)

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้