คุณสมบัติบางประการของน้ำนมแม่กระต่าย สัตว์ฟันแทะ ชูการ์ไกลเดอร์ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก - และอาหารทดแทนนมชนิดใดบ้าง?

529 จำนวนผู้เข้าชม  | 

คุณสมบัติบางประการของน้ำนมแม่กระต่าย สัตว์ฟันแทะ ชูการ์ไกลเดอร์ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก - และอาหารทดแทนนมชนิดใดบ้าง?

ทางเลือกที่เคยได้เล่าผ่านบทความมาหลายๆครั้ง ว่า น้ำนมแม่ในสัตว์เหล่านี้จะมีโปรตีนสูง ไขมันสูง ขณะที่คาร์โบไฮเดรตจะต่ำ โดยเฉพาะน้ำตาลแลคโตสจะต่ำกว่าน้ำนมวัว จะมีอาหารทดแทนนม ซึ่งจะเรียกนมทดแทนก็ได้ หลายชนิดใช้นมผงมาทำผลิตภัณฑ์เลย แต่บางชนิดพิจารณาจากสูตร และใช้วัตถุดิบทดแทนทั้งหมด เพื่อให้คุณสมบัติใกล้เคียงน้ำนมแม่ และไม่ต้องมีน้ำนมจากสัตว์อื่น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัวหรือแพะมาผสม

แม่กระต่ายจะเริ่มผลิตน้ำนมได้มากขึ้นตั้งแต่วันที่ 2 หลังคลอดจนถึงวันที่ 14 จะเป็นช่วงที่ผลิตน้ำนมได้เยอะมาก บางสายพันธุ์อาจมากถึง 300 กรัมต่อวัน (เป็นช่วงที่ตรวจสอบในการวิจัย) แล้วค่อยๆลดลง หรือเมื่อประเมินใน 28 วัน แต่ละตัวอาจผลิตได้ถึง 7 กิโลกรัม ค่าเฉลี่ยของวัตถุแห้ง โปรตีน ไขมัน และแลคโตสในช่วง 3 สัปดาห์มีค่าเท่ากับร้อยละ 29.8, 12.3, 12.9 และ 1.7 ตามลำดับ จะเห็นว่าไขมันสูงมาก ซึ่งจะคล้ายในกลุ่มสัตว์ฟันแทะและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก ที่มีระดับไขมันสูง เช่น ในหนูแรทจะพบไขมันในน้ำนมสูงถึงร้อยละ 12.5-15.8 แต่มีระดับของโปรตีนต่ำกว่ากระต่ายเล็กน้อย คือร้อยละ 8.9-9.2 เช่นเดียวกับการศึกษาในชูการ์ไกลเดอร์ที่พบว่ามีความแตกต่างของคุณสมบัติอาหารต่างๆ มีระดับโปรตีนระหว่างร้อยละ 16-19 ไขมันร้อยละ 3-15 ทั้งนี้พบว่าอาหารที่มีระดับโปรตีนและไขมันสูงจะมีอัตราการเจริญเติบโตหรือน้ำหนักที่ดีกว่า (Dierenfeld & Whitehouse-Tedd, 2017)

โดยในกระต่ายจะพบการผลิตโปรตีน เคซีน ไขมันอิ่มตัว และแลคโตสสูงในช่วง 9 วันแรก ซึ่งสิ่งที่จำเพาะมาก โดยพบว่าไขมันในระดับสูงนั้นประกอบไปด้วยไขมันอิสระหลายชนิด (Ludwiczak et al., 2023) โดยไขมันอิสระส่วนใหญ่ในน้ำนมจะเป็น C12:0, 14:0, 15:0, 16:0, 18:0, 18:1 trans-6/8, 18:1 trans-9, 18:1 cis-9, 18:2n-6, 18:3n-3, 20:1 cis-9, 20:2n-6, และ 22:0 (Betancourt López, et al., 2019) บางรายงานกล่าวว่าน้ำนมกระต่ายจะมีกรดคาไพรลิก และกรดคาปริกในระดับที่สูงมาก และพบกรดลอริค (Maertens et al., 2006) ซึ่งต่างจากน้ำนมวัวที่จะเป็น C4:0 และ C12:0 เป็นส่วนใหญ่ (Auldist et al., 1998)

น้ำนมกระต่ายจะมีไขมันต่างๆ ดังนี้ 70.4% SFA, 12.8% MUFA, และ 15.6% PUFA (Maertens et al., 2006) จากร้อยละนี้ทำให้เห็นได้ว่าน่ำนมกระต่ายมี MUFAs และ PUFAs สูงกว่าวัว แต่ SFA ใกล้เคียง ขณะที่จะมี SFA สูงกว่าในสุกร แต่มี MUFA ต่ำกว่า (Mollica et al., 2021) จึงเห็นว่าระดับไขมันในน้ำนมสำคัญ และพบว่าเมื่อไขมันในน้ำนมลดลง จะพบการย่อยได้ของนมลดลงไปด้วย มีความสัมพันธ์กับอัตราเจริญเติบโตและความอยู่รอด

ความอยู่รอดของลูกกระต่ายขึ้นกับปริมาณน้ำนมที่ผลิตและคุณสมบัติทางเคมีของน้ำนมในแม่ การได้รับอาหารทดแทนนมที่ใกล้เคียงจึงสำคัญในกรณีหย่านมเร็ว แม่ไม่เลี้ยง หรือกำพร้า

มีอาหารทดแทนนมหลายชนิดที่น่าสนใจ เดิมทีเราคุยกันถึง HPW หรือ Zoological Matrix ณ ที่นี้จะให้ทำความรู้จักอาหารชนิดนี้ คือ Speciality Milk Replacer ซึ่งผู้ผลิตหรือเจ้าของคือแบรนด์ดัง Exotic Nutrition ที่มีความชำนาญด้านการทำอาหารกลุ่มโปรตีนสูง เช่น HPW และ Marsupial Milk Replacer สำหรับกลุ่มมีกระเป๋าหน้าท้องทั้งหลาย ผ่านสูตรของวอมบารู อาหารชนิดนี้ที่ถือเป็นอาหารทดแทนนมได้ ด้วยหลักการเบื้องต้นก่อน คือ มีโปรตีนและไขมันสูง คล้ายๆ กับนมทดแทนตัวอื่นๆ ที่กล่าวข้างต้น และมีคุณสมบัติแตกต่างจากนมทดแทนในสุนัขและแมว รวมทั้งนมวัวและนมแพะ จึงได้ชื่อว่า “ลักษณะเฉพาะ” ยิ่งขึ้น

โดยมีโปรตีนและไขมันไม่น้อยกว่าร้อยละ 24 ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูง ขณะที่แป้งหรือคาร์โบไฮเดรตจะต่ำ ผสมด้วยวิตามินและแร่ธาตุพร้อมเสริฟ โดยสังเกตพบระดับวิตามินเอ ดี และอี ในปริมาณที่เหมาะสม ที่สำคัญแหล่งของวัตถุดิบของอาหารทดแทนนมในลูกสัตว์เหล่านี้จะใช้โปรตีนและไขมันย่อยง่าย หรือใช้ไขมันสายกลางทดแทน หรืออย่างน้อยโดยหลักการ ต้องมีระดับของไขมันสูงจากแหล่งที่เหมาะสม เมื่อทำการเจือจางก่อนป้อนลูกสัตว์ สัดส่วนที่เจือจางจะทำให้ระดับของโปรตีน ไขมัน ลดลงไปอีก อาหารทดแทนนมเหล่านี้จึงตั้งระดับสารอาหารหรือร้อยละในสูตรอาหารเพียงพอสำหรับลูกสัตว์ แม้จะเจือจางแล้ว ระดับที่ได้ก็ยังต้องสูงกว่านมวัวหรือนมแพะ และเพียงพอต่อความต้องการ

โดยหลักการอาจจะมีเพียงเท่านี้ คือพลังงานเพียงพอ ในสูตรต้องมีคุณสมบัติใกล้เคียงที่สัตว์ต้องการหรือมีค่าอย่างน้อย เพื่อไม่ให้ขาดสารอาหาร แต่ในการดูแลสัตว์จริง ยังต้องประเมินปริมาณการกินได้ อัตราการเจริญเติบโต และการกินต่อเนื่องที่ไม่ใช่การกินเพราะกำพร้า แต่ยังคงกินเป็นอาหารเสริมที่ดี ป้องกันการขาดสารอาหารได้ในสัตว์ที่กำลังเติบโตหลังหย่านมแล้ว ซึ่งอาหารกลุ่มนี้ทำหน้าที่มากกว่าเป็นนมทดแทน และยังช่วยฟื้นฟูสุขภาพยามเจ็บป่วยทั้งในกระต่าย สัตว์ฟันแทะ รวมไปถึงชูการ์ไกลเดอร์และสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้องต่างๆ ที่ต้องการโปรตีนและไขมันสูงกว่าสัตว์ชนิดอื่นๆ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้