มาคอว์มือใหม่ป้ายแดง
คุณหมอช่วยแนะนำอาหารหลักของนกแก้วมาคอว์ให้หน่อยค่ะ (121 อ่าน)
27 ก.พ. 2568 01:04
นกแก้วมาคอว์ที่บ้าน อายุ6เดือน เป็นสายพันธุ์บลูแอนด์โกลด์มาคอว์ สกาเลต และกรีนวิงค์มาคอว์ อยากให้อาจารแก้วแนะนำอาหารหลักที่ควรให้นกมาคอว์รับประทานเป็นประจำทุกวันเพื่อให้น้องมีโภชนาการและสุขภาพที่ดีค่ะ ปัจจุบันให้กินแต่เมล็ดทานตะวัน ขอบคุณค่ะ
มาคอว์มือใหม่ป้ายแดง
ผู้เยี่ยมชม
อ.แก้ว ขวัญคำ
1 มี.ค. 2568 20:55 #1
ผมจะพยายามอธิบายโดยใช้แหล่งข้อมูลหลักจาก Lafeber และผสมกับหลักวิชาการแบบภาพรวมให้เห็นความแตกต่างด้านสรีรวิทยา จะได้เข้าใจการเลี้ยงมากขึ้น แต่จะเป็นแค่ส่วนหนึ่งของคำแนะนำการเลี้ยงทั้งหมดที่ควรเป็นนะครับ
นกกลุ่มนี้มีความน่าสนใจว่ามาจากป่าชื้นหรืออเมซอน แต่ถ้าเทียบบรรยากาศแล้วก็ถือว่าประเทศไทยมีความเหมาะที่มีความใกล้เคียงทางภูมิศาสตร์และภูมิอากาศแม้จะไม่เป๊ะ แม้ว่าจะเป็นสัตว์กลุ่ม herbivores หรือกินพืชเป็นหลักแต่ก็เป็นกลุ่มธัญพืชเป็นส่วนใหญ่หรือ granivores ครับ แต่ก็เลือกว่าชนิดใดในธรรมชาติจะดีที่สุด ซึ่งจะยกตัวอย่างต่อไป แต่โดยธรรมชาตินั้นยังต้องการวิตามินจากผลไม้ ดอกไม้ ใบไม้ น้ำหวานดอกไม้ แม้กระทั่งผัก บางรายงานจึงรายงานหมดว่านกมาคอว์เป็น frugivores, granivores, florivores ในบางกลุ่มผู้เลี้ยงจึงเลือกทำอาหารแบบ homecare ให้กินโดยมีการผสมระหว่างธัญพืชงอกหรือผักงอกใหม่ ผลไม้ และเมล็ดธัญพืช แต่อย่างไรก็ยังมีโอกาสขาดสารอาหาร ในยุโรปและอเมริกาจึงเน้นการฝึกให้กินอาหารเม็ดร่วมด้วย นกมาคอว์เมื่อนำเลี้ยงจึงมีความเสี่ยงต่อการขาดสารอาหารเพราะเลี้ยงด้วยธัญพืชเป็นส่วนใหญ่ ยกตัวอย่างเมล็ดทานตะวันที่ผู้เลี้ยงให้กินลำพังอย่างเดียว จะมีโอกาสขาดหรือพบได้น้อยแม้ว่าจะมี ได้แก่ กลุ่มวิตามินละลายในไขมัน เช่น เอ ดี อี เค และยังพบในกลุ่มวิตามินละลายในน้ำทั้งบีหลายชนิดและซี แร่ธาตุมีน้อยเช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส โซเดียม สังกะสี เหล็ก ไอโอดีน ซิลีเนียม แมงกานีส และกรดอะมิโนที่สำคัญที่มักพบว่ามีน้อย เช่น ไลซีน เมทไธโอนีน ในอาหารสัตว์ที่ใส่แต่ธัญพืชเป็นหลัก เช่น ถั่งเหลือง ข้าวโพด รำละเอียด ลองสังเกตดูถุงอาหารครับ จึงมักต้องเติมกรดอะมิโนทั้งสองชนิดนี้เป็นอย่างน้อย และขาดไม่ได้ป่วยแน่นอนครับ และยังขาดอีกหลายตัว รวมแล้วไม่น้อยกว่า 13 ชนิดสารอาหาร แต่มีข้อดีที่ให้ไขมันสูงซึ่งนกแก้วใหญ่ โดยเฉพาะมาคอว์มีความต้องการไขมันมากกว่านกชนิดอื่นๆ ทานตะวันจึงสามารถทดแทนสัดส่วนน้ำมันได้ดี และยังมีกลุ่มเมล็ดปาล์ม เม็ดมะม่วงหิมพานต์ และอัลมอนด์ที่ให้โปรตีนและไขมันที่สูง แต่คาร์โบไฮเดรตต่ำ พบว่ามาคอว์บางสายพันธุ์ เช่น ไฮยาซีนในธรรมชาติจะเลือกกินเฉพาะเมล็ดปาล์ม เป็นต้น เพราะให้สารอาหารที่สมบูรณ์กว่าเมล็ดธัญพืชอื่นๆที่พบในป่าแถบนั้น แต่ควรเสริมด้วยอาหารเม็ดเพื่อทดแทนแร่ธาตุและวิตามิน รวมทั้งกรดอะมิโนที่มีซัลเฟอร์หรือเมทไธโอนีน ซีสเตอีน ซีสตีน เป็นต้น ดูจากข้างถุงอาหารได้ครับ ด้วยเหตุผลว่าเมล็ดธัญพืชยังมีโอกาสขาดสารอาหารเหล่านี้หลายชนิด โดยเฉพาะวิตามินเอ ที่พบเกิดปัญหาด้านสุขภาพมากที่สุดในโรคนก เสี่ยงต่อโรคระบบทางเดินหายใจ ผิวหนังหยาบกร้าน ขณะที่แคลเซียมในธัญพืชจะต่ำและเสี่ยงต่อโรคเมตาบอลิกกระดูก กรดอะมิโนที่มีซัลเฟอร์จะช่วยเรื่องสุขภาพ การดีท็อกซ์ในตับ การสร้างขน ผิวหนัง ปาก เล็บ การขาดจะเห็นชัดที่ขนว่าหยาบกร้านพอๆ กับการขาดไขมันทีเดียว นอกเหนือจากนี้เป็นที่ทราบกันในนักวิชาการสัตว์ปีกว่า สัตว์ปีกจะมีอุปสรรคในวัฏจักรยูเรีย ไม่เหมือนกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เพราะมีความพร่องกรดอะมิโนชนิดอาร์จีนีน และที่จริงยังใช้ในความต้องการของร่างกายอีกหลายกลไก การเสริมอาร์จีนีนในอาหารจึงนิยมมากในต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มอาหารฟื้นฟูหรือบูสเตอร์ ช่วยให้การไหลเวียนเลือดในร่างกายดีขึ้น นั่นหมายถึงสุขภาพจะดีกว่าการไม่ได้รับอาร์จีนีนครับ
เมื่อเป็นเช่นนี้ การจัดการในต่างประเทศจึงหันไปแนะนำการฝึกให้กินอาหารเม็ดแทนเมล็ดธัญพืชในนกเลี้ยงที่เสี่ยงต่อการขาดการกินที่หลากหลายครับ โดยเริ่มฝึกให้กินตั้งแต่ลูกป้อน เพราะนกที่โตเต็มวัยมักจะปฏิเสธอาหารที่ไม่คุ้นเคยและเลือกกินไม่กี่ชนิดแม้กระทั่งเมล็ดธัญพืชก็ตามครับ แต่เดิมสัดส่วนอาหารเม็ดจะไม่มากแต่ปัจจุบันจะแนะนำเป็นหลักหรือสัดส่วนมากถึงร้อยละ 75 ขึ้นไป และอาหารรองลงมาก็ยังไม่ใช้เมล็ดธัญพืชแต่เป็นผลไม้ ผัก และพืชสด ซึ่งในกรณีเป็นพืชงอกใหม่จะให้ระดับโภชนาการที่ดีขึ้น ในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 25 และเสริมธัญพืชในปริมาณน้อย ในกรณีที่ทำเองที่บ้านเขาก็ใส่เมล็ดธัญพืชเพียง 5 เมล็ดเท่านั้น แต่จะดูขัดใจผู้เลี้ยงในไทยเป็นอย่างมาก และส่วนใหญ่ก็เลี้ยงด้วยธัญพืชเต็มถ้วย เพราะต่างประเทศเปลี่ยนกันมานานเพราะการที่สารอาหารในเมล็ดธัญพืชไม่สมบูรณ์นั่นเอง สิ่งหนึ่งที่จะเห็นได้มากคือระดับวิตามินอีที่ต่ำ จะลดประสิทธิภาพในระบบสืบพันธุ์ไปเยอะเลยครับ การเสริมวิตามินอีจึงจำเป็นมากในกลุ่มที่กินแต่ธัญพืช ไม่ใช่แค่วิตามินเอที่ขาดเสมอ อย่างไรก็ตามผู้เลี้ยงแต่ละท่านก็มีวิธีจัดการที่แยบยล เสริมแร่ธาตุและวิตามิน ผลไม้และผักกันแล้วแต่ละคน แตกต่างกันไป หากได้ข้อมูลในเชิงวิจัยน่าจะช่วยให้เราตกผลึกความรู้เรื่องการจัดการในไทยได้เยอะอีกระดับครับ ข้อมูลจากแต่ละท่านและสุขภาพเชิงประจักษ์จะช่วยบ่งชี้ว่าเราควรให้การจัดการอาหารอย่างไรดีที่สุด
นกที่ยังอยู่ระยะจูวีไนล์เข้าสู่รุ่นกำลังเจริญเติบโตยังสามารถฝึกให้กินอาหารเม็ดได้ดีครับ ถ้าปล่อยไปอายุมากกว่านี้อาจฝึกกินอาหารเม็ดได้ยากและจะติดกินเมล็ดทานตะวันครับ ขอให้สุขภาพดีทั่วหน้ากันนะครับ
อ.แก้ว ขวัญคำ
ผู้เยี่ยมชม
มาคอว์มือใหม่ป้ายแดง
1 มี.ค. 2568 22:06 #2
เป็นประโยชน์มากๆ ขอขอบคุณค่ะ
มาคอว์มือใหม่ป้ายแดง
ผู้เยี่ยมชม