ภาวะท้องมานในกบ

152 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ภาวะท้องมานในกบ

ภาวะท้องมานในกบ
โดย สพ.ญ. พิชชา พุ่มจำปา (หมอใบหม่อน)
และผศ.น.สพ.ดร.สมโภชน์ วีระกุล (อาจารย์แก้ว)

การเกิดท้องมาน (ascites) ในกบบูลฟรอก อาเจนติน่า และกบสวยงามต่างๆ พบได้เสมอ โดยมีการสะสมของเหลวภายในช่องท้อง โดยเริ่มจากปริมาณเพียงเล็กน้อย แต่ทำให้เห็นส่วนที่เป็นอากาศภายใน เช่น ปอด เห็นได้แตกต่างจากภาพเอกซเรย์ อย่างไรก็ตามในระยะแรกของการสะสม ผู้ตรวจวินิจฉัยอาจมองข้าม และเป็นไปได้ที่จะประเมินว่ามาจากไขมันสะสม แม้ว่าภาพเอกซเรย์ของกบต้องได้รายละเอียดของอวัยวะต่างๆ ดีพอสมควร


ในรายที่เกิดมานานอย่างเรื้อรัง ก็จะเริ่มเห็นชัดเจนจากการสะสมของเหลวที่มากขึ้น เป็นภาพขาวทั้งหมดซึ่งจะแสดงความแตกต่างกับปอดมากขึ้น เหมือนภาพ pleural effusion ที่พบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แต่จะมีการสะสมของเหลวทั่วทั้งช่องว่างในลำตัว (coelomic cavity)


สาเหตุที่มักพบที่คาดว่าเป็นไปได้มากในกบในไทยคือระดับโปรตีนในอาหารต่ำ อาหารส่วนใหญ่เป็นอาหารปลาหรืออาหารกบหรืออาหารที่มีสัดส่วนของพืช ซึ่งอาจมีโปรตีนต่ำ และกบจำนวนไม่น้อยพบมีปัญหาโรคเมตาบอลิกกระดูก ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะมาจากความพร่องด้านโภชนาการและการจัดการ ในการศึกษาในกบบูลฟรอกที่เกิดท้องมานทั้งที่ได้รับอาหารที่มีโปรตีนสูงร้อยละ 40 โดยพบว่าของเหลวที่ดูดนำมาเพาะเชื้อไม่พบเชื้อแบคทีเรียชนิดใด หรือภาวะท้องมานในกลุ่มนี้ไม่ได้มาจากโรคติดเชื้อแบคทีเรีย และทำการศึกษาถึงผลที่มาจากโรคตับและโรคไต พบว่ามีความสอดคล้องกับการอักเสบของตับและไต ซึ่งทุกเคสที่ทำการตรวจแจ้งว่าเกิดแบบเรื้อรัง โดยพบการบวมน้ำในหลายอวัยวะ ทั้งตับ ไต ปอด หัวใจ เป็นต้นพบว่าสีของไตเข้มและคล้ำ และตับพบได้ทั้งสีเข้มและซีดกว่าตับปกติ และเป็นสองอวัยวะที่มีความชัดเจนมากที่สุด


ไตจะพบแกรนูโลม่าจำนวนมาก โดยมี eosinophilic hyaline แทรกอยู่ โดยพบว่าไตเกิด hypoplastic และการขยายขึ้นของ Bowman's space ยังพบ dystrophic calcification ในชั้นพาเรนไคม่า พอๆ กับการมีจุดเลือดออกรอบเส้นเลือด พบไฟบรินอยด์และแกรนูล่าพิกเมนต์ในเซลล์ทูบูลาร์ เป็นต้น (Filho et al., 2019) ส่วนในตับพบเซลล์เมลาโนมาโครเฟจในชั้นพาเรนไคม่า และจุดที่เกิดจากการอักเสบของตับที่มีเซลล์ทั้ง mono-lymphocytes เกิดเป็นเซลล์ตับเสียหายและตาย การพบเซลล์มาโครเฟจจำนวนมากในตับบ่งชี้การถูกทำลายอย่างรุนแรงของพาเรนไคม่า และเป็นไปได้ที่จะเกิดจากสารพิษจากสิ่งแวดล้อม การพบแกรนูโลม่าในหลายอวัยวะมักพบในกรณีการติดเขื้อไมโคแบคทีเรียม ในการตรวจเชื้อแบคทีเรียทั่วไปไม่สามารถตรวจเชื้อชนิดนี้ได้ก็ต้องระวังการวินิจฉัยผิดพลาด และหลายการศึกษาในสัตว์น้ำพบเชื้อไมโคแบคทีเรียอยู่เสมอ จึงยังมีความเป็นไปได้


เขายังแนะนำว่าเป็นแบบเรื้อรังและมีอาการเกิดซ้ำได้ และเป็นไปได้ที่ปัญหาเกี่ยวกับตับเป็น protein-mineral deficiency ยังเชื่อว่าการได้รับอาหารคุณภาพต่ำเป็นตัวทำลายตับและไต


จากข้างต้นมีรายงานสนับสนุนว่าการเกิดท้องมานในหลายกรณีเกิดจากภาวะขาดโปรตีนและแร่ธาตุที่ส่งผลให้เซลล์ตับเกิดความเสื่อม (Cecil, 2006) ให้อาหารคุณภาพต่ำ หรือใช้วัตถุดิบคุณภาพต่ำ หรือให้อาหารที่เป็นพืชผักเป็นส่วนประกอบ ทั้งที่กบเป็นสัตว์กินเนื้อ ที่ต้องการโปรตีนสูง ทำให้เกิดภาวะผิดปกติที่ตับได้ (Hipolito, 2004; Vannevel, 2006; Seixas Filho et al., 2008, 2010.)


แนวทางการรักษาจึงประเมินได้ยาก ภาวะท้องมานที่เป็นแบบเรื้อรัง มักเกิดจากหลายสาเหตุ ควรพิจารณาเรื่องอาหารเป็นเบื้องต้น ประเมินแยกภาวะติดเชื้อโดยการเพาะเชื้อเฉพาะหรือพีซีอาร์ และประเมินสาเหตุจากไม่ติดเชื้อดังกล่าวข้างต้น และรักษาด้วยการประคับประคอง และชะลอความเสื่อมของอวัยวะที่เกิดความเสียหาย

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้