567 จำนวนผู้เข้าชม |
“การแบ่งเกรดปรวด (ลงพื้น) อุ้งตีนไก่ (เหยี่ยว อินทรี) สำคัญต่อการวางแผนรักษา”
โดย สพ.ญ. กมลรัตน์ โพธิ์สุวรรณ (หมอฝน) และผศ.น.สพ.ดร.สมโภชน์ วีระกุล (อ.แก้ว)
ลงพื้นหรือหน่อเท้า หรือ “ปรวด” เป็นโรคที่พบได้เสมอ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Pododermatitis หรือ Bumble foot disease ในไก่ชน เหยี่ยว อินทรีย์ มักมีสาเหตุโน้มนำมาจากลักษณะของพื้นกรงหรือคอกที่แข็ง หรือทำจากวัสดุที่สามารถทำให้ได้รับบาดเจ็บ เช่น ตาข่ายพลาสติก กรงเหล็ก การได้รับการกระแทก อายุมาก การเลี้ยงหนาแน่น น้ำหนักมาก รวมทั้งการขาดสารอาหารบางชนิด เช่น ไบโอติน วิตามินเอ วิตามินซี
ลักษณะของอาการ ระยะแรกฝ่าตีนและอุ้งใต้นิ้วจะบวมแดงร้อนเล็กน้อย ข้อนิ้วและข้อตีนจะบวมได้ อาจพบหรือไม่พบแผลถลอกก็ได้ ไก่จะเริ่มแสดงอาการเจ็บ และไม่ค่อยกล้าลงน้ำหนักลงบนตีนข้างที่เกิด ระยะต่อมาจะเริ่มเห็นแผลหลุมขนาดใหญ่และลึก บางครั้งจะพบว่าอุ้งใต้นิ้วจะมีอาการเห็นชัดก่อน มีการสร้างเคอราตินมากขึ้นในผิวหนังชั้น stratum intermedium หรือพบการสร้างเนื้อเยื่อเกี่ยวพันด้านล่างของบาดแผล ในแผลพบการสร้างหนองและมีแผ่นสะเก็ดปิดสีดำ (scab) แบคทีเรียที่พบมักเป็นกลุ่ม Staphylococcus aureus และ Streptococcus spp. ไก่จะไม่สามารถวางตีนได้ ระยะต่อมารอยโรคจะเริ่มแข็งตัวจากการสร้างเนื้อเยื่อเกี่ยวพันมากขึ้น มีการเจริญของเคอราตินมากเกินไปในชั้นหนังกำพร้า ที่เรียกว่าตาปลา (hyperkeratosis) ไก่จะวางตีนได้ แสดงอาการเจ็บปวดลดลง หนองจับตัวเป็นก้อน ในหลายรายอาจไม่พบหนอง แต่พบลักษณะตาปลาที่หนังกำพร้า เมื่อเปิดผ่าเข้าไปจะพบก้อนเหมือนเนยแข็ง หรือเนื้อเยื่อเกี่ยวพันลักษณะคล้ายนิ้วมือด้านล่างของบาดแผล ในบางรายที่รุนแรงหรือไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมและมีการติดเชื้อลุกลาม ทำให้เกิดปัญหาโพรงกระดูกอักเสบ (osteomyelitis) ตามมาได้ จะพบบริเวณข้อนิ้วและข้อตีน บางครั้งที่ข้อเข่ามีอาการบวมมาก
การรักษา ขึ้นกับความรุนแรงหรือตามเกรดของโรค ระดับที่ 1 ในรายที่เริ่มมีอาการแดงที่ผิวหนังจากการกดทับหรือบาดเจ็บ ในบางรายจะเกิดการอักเสบมากขึ้นทำให้พบอาการบวมร้อนแดงได้ ซึ่งมีการอักเสบเพียงเล็กน้อย ระดับนี้ใช้ครีมกลุ่มให้ความชื้นเพื่อช่วยเยื่ออายุเซลล์ผิวหนัง ป้องกันการเกิดเนื้อด้านและตาปลา พิจารณาพันผ้าแบบ วิธี interdigital bandage หรือ ball bandage และลดปัจจัยเสี่ยง เช่น พื้นกรงและคอนที่ไม่เหมาะสม ก็สามารถช่วยได้แล้ว ในระดับที่ 2 เมื่อเริ่มเกิดเนื้อเยื่อผิวหนังหนาตัวขึ้น และยังพบอาการบวมอักเสบมากขึ้นจนเห็นการบวมได้ชัด นอกจากการแก้ไขแบบระดับที่ 1 พิจารณาใช้ยาลดอักเสบและลดปวดได้ในรายที่ลงพื้นไม่ได้ หรือเพียงแค่กดสัมผัสจะรู้สึกเจ็บ แบบทาภายนอกสำหรับในรายที่เป็นแบบอ่อน แบบกินหรือฉีดในรายที่เจ็บปวดมาก บางการศึกษาแนะนำให้พิจารณาใช้วิตามินเอร่วมในขนาด 100,000 หน่วยต่อน้ำหนักไก่ 1 กิโลกรัม ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ในสัปดาห์แรก 2 ครั้ง สัปดาห์ถัดไปสัปดาห์ละครั้ง และพันอุ้งตีนไว้ ในระดับที่ 3 พบว่ามีการเสื่อมของชั้นเยื่อบุผิว การอักเสบ บวมร้อนแดงอย่างมากจนไม่สามารถลงพื้นได้ ซึ่งควรจะพบร่วมกับการมีบาดแผล อาจพบหนองจากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ซึ่งมีลักษณะคล้ายก้อนเนย และจะพบสะเก็ดสีดำปิด ซึ่งเป็นลักษณะที่พบมากที่สุดที่มาพบสัตวแพทย์ ดังภาพที่เห็น ตั้งแต่ระดับนี้การตรวจวินิจฉัยจะเริ่มเข้มงวดมากขึ้น โดยจำเป็นต้องทำการเอกซเรย์ประเมินว่ามีการอักเสบและอาจติดเชื้อไปที่กระดูกด้วยหรือไม่ หากพบมีการอักเสบและเสื่อมของกระดูกที่เป็นอวัยวะข้างเคียงจะนับว่ามีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอีกระดับ การรักษาจะแตกต่างกัน ในระดับที่ 3 ที่ไม่พบการอักเสบและเสื่อมของกระดูก จะทำการปรับยาจากกลุ่มขี้ผึ้งหรือครีม มาเป็นยาทาภายนอกที่มียาผสมอยู่ 3 ชนิด หรือ DDA โดยจะมีตัวอย่างที่ช่วยนำพาสารตัวอื่นๆเข้าสู่ผิวหนังได้ดีขึ้น จะช่วยลดการอักเสบได้ดีร่วมกับยาต้านการอักเสบและยาปฏิชีวนะป้องกันเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุหรือมีการแทรกซ้อนที่จะพบในระยะนี้ โดยยาที่เหมาะสมควรจะไปลดการอักเสบ ลดการติดเชื้อ และช่วยลดปวด นอกจากนี้จะมีผลลดการสร้างเคอราตินและการหนาของชั้นผิวหนังจากการสร้างเนื้อเยื่อเกี่ยวพันในระยะการหายของแผล ซึ่งจะเป็นปัญหาอย่างมากที่มักพบว่าไก่หรือนกที่เป็นอุ้งตีนอักเสบมักจะมีการสร้างพังผืดมากเกินไป จากการมีน้ำย่อยโปรตีน (protease enzyme) ต่ำกว่าสัตว์ชนิดอื่นๆ จึงมักพบการเกิดอุ้งตีนบวมแข็งคล้ายฝี แม้ผ่าตัดไปแล้วก็มักจะกลับมาบวมแข็งแบบรักษาไม่หาย สัตวแพทย์จะช่วยพิจารณาว่าควรจะทาบ่อยแค่ไหน เพราะยากลุ่มนี้จะลดการอักเสบและการสร้างเนื้อเยื่อได้เป็นอย่างดี แต่มากเกินไปจะไปทำให้บาดแผลไม่หายหรือหายช้าอย่างมาก และเป็นแผลเปิด แม้จะไม่มีการติดเชื้อแทรกซ้อนก็ตาม โดยปกติจะทาภายนอกเพียงวันละ 2-3 ครั้งเทานั้น ใช้ระยะเวลานานถึง 6 สัปดาห์ ในระยะนี้ผู้เลี้ยงควรประเมินร่วมกับสัตวแพทย์อย่างใกล้ชิดเพื่อให้กระบวนการหายของแผลยังเกิดขึ้นแต่ยังป้องกันการสร้างเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่มากเกินไปให้พอดิบพอดี ยากลุ่มนี้ยังพิจารณาใช้นระดับที่ 2 ที่พบการอักเสบรุนแรงได้ จะช่วยลดการอักเสบได้รวดเร็ว จากภาพที่นำเสนอเป็นระดับที่ 3 ที่มีการบวมแข็ง มีหนองภายใน เมื่อทำเอกซเรย์ไม่พบการแทรกซ้อนไปยังกระดูก และทำการลดอาการบวมอักเสบนั้นไปก่อนในระยะ 2-3 วัน จึงทำการผ่าตัดเพื่อนำเอาเนื้อตาย และหนองแบบเนยนั้นออก หลังการศัลยกรรมนี้จะทำการลดการสร้างเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่มากเกินไปจากการหายของแผลในสัตว์ปีกด้วยการทา DDA และประเมินขนาดที่เหมาะสมจนกว่าจะหาย ทั้งนี้อาจพิจารณาการใช้ยาลดปวด และยาปฏิชีวนะทางระบบเพิ่มเติม หรือตามอาการที่พบอื่นๆ ได้แก่ ไข้หนาวสั่น ปวด ตัวซีด ไม่กินอาหาร
ซึ่งการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอาจจะสัมพันธ์กับการให้ในระดับความรุนแรงที่ 4 ที่จะพบอาการรุนแรงมากพบเนื้อตาย ฝีและบวมมาก ซึ่งพบอาการบวมที่ข้อเท้าและข้อเข่าร่วม อย่างไรก็ตามในบางรายในระดับที่ 2 แม้ไม่พบอุ้งตีนเป็นฝีหนองก็สามารถพบการบวมของข้อได้ ต้องระมัดระวังการติดเชื้อ มักจะพบ Staphylococcus aureus และ Streptococcus spp ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น เชื้อเหล่านี้มักจะติดผ่านกระแสเลือดไปที่อวัยวะอื่นๆ และก่อการอักเสบทั้งร่างกาย จึงพบการอักเสบที่อวัยวะต่าง ๆ ได้แก่ หัวใจและทางเดินหายใจร่วมอยู่เสมอ การรักษาโดยการให้ยาปฏิชีวนะ และการลดการอักเสบจึงมีเหตุผลในระดับนี้ จึงต้องทำการรักษาการติดเชื้อ การบวมของอุ้งตีน รวมทั้งข้อเท้าและข้อเข่าจนอาการดีขึ้น จะค่อยพิจารณาทำศัลยกรรม แต่หากทำการเอกซเรย์แล้วพบการเสื่อมและเกิดโพรงกระดูกอักเสบแทรกซ้อน มักจะเป็นกระดูกนิ้วและอุ้งตีนถึงหน้าแข้ง ซึ่งถือเป็นระดับ 5 จัดว่ารุนแรงและพยากรณ์โรคไว้ในระดับเลว เพราะในกรณีแบบนี้อาจไม่ตอบสนองต่อการรักษาและกลับมาใช้ขาตามปกติไม่ได้ ให้ทำการรักษาแบบระดับที่ 4 และประเมินการหายของกระดูก และความเสี่ยงในการติดเชื้อแทรกซ้อนจนทำให้เสียชีวิตได้