2822 จำนวนผู้เข้าชม |
เคล็ดลับเรื่องเกลือ
โดย หมอแก้ว (ผศ. น. สพ. สมโภชน์ วีระกุล)
เราหลายคนเข้าใจกันผิดเกี่ยวกับเกลือกันพอสมควร สุดท้ายก็ต้องเสียปลา เพราะใช้โดยขาดความรู้ เพราะเกลือมีทั้งคุณและโทษ
จะเข้าเรื่องเกลือ ต้องมาทำความรู้จักปลากันก่อน น่าจะทำให้เข้าใจมากขึ้น ทั้งหมดเป็นเพราะว่าปลาเองต้องปรับตัวให้อยู่รอดในสภาวะถิ่นอาศัยรอบข้าง ปลาน้ำเค็ม หมายถึง ปลาที่อาศัยอยู่ในสภาวะที่เกลือภายนอกร่างกายสูงกว่าภายในร่างกาย ขณะที่ปลาน้ำจืดอาศัยอยู่ในสภาวะที่มีเกลือน้อยกว่าภายในร่างกาย (ปกติไม่ว่าปลาน้ำไหนก็จะมีเกลือในร่างกายไม่มากไปกว่ากัน) ...
ว่าด้วยการแพร่ของน้ำ และความเข้มข้นของเกลือ... น้ำจะไหลจากส่วนที่มีความเข้มข้นของเกลือน้อย ไปหาความเข้มข้นของเกลือมาก ก็คือการแลกเปลี่ยนอิออนระหว่างโซเดียมกับไฮโดรเจน และคลอไรด์กับไบคาร์บอเนต หากเป็นเช่นนี้แล้วจะเกิดอะไรขึ้น ปลาทะเลที่มีเกลือในร่างกายน้อยกว่าน้ำเค็ม จะต้องสูญเสียน้ำจำนวนมากแพร่ผ่านออกไปสู่น้ำทะเลอย่างแน่นอน จะเกิดสภาวะสูญเสียน้ำ แห้งน้ำ แล้วปลาน้ำจืดล่ะ พวกเขามีความเข้มข้นของเกลือในเลือดสูงกว่าน้ำ ก็จะมีน้ำจำนวนมากไหลผ่านเข้าไปสะสมในร่างกาย เกิดการบวมน้ำในร่างกาย ดังนั้นร่างกายจึงต้องมีกลไกหลายๆ อย่างเพื่อป้องกันเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว คร่าวๆ คือ
1. ป้องกันการไหลผ่านของน้ำเข้า-ออกจากร่างกายโดยผ่านผิวหนัง ไม่ให้ไหลผ่าน แต่เมื่อเกิดบาดแผลขึ้นล่ะ จะทำยังไงดี....
2. เหงือกและไตของปลาทำหน้าที่ได้ดี น้ำจะไหลผ่านเหงือกตลอดเวลา เพื่อแลกเปลี่ยนออกซิเจน ระหว่างเลือดและน้ำภายนอก เป็นที่ที่ยอมให้น้ำไหลผ่านได้ดี ในปลาน้ำจืดจะรับน้ำ และเกลือ (โซเดียมคลอไรด์) เข้า และเกลือปริมาณน้อยๆ ในน้ำจะถูกเก็บรักษาโดยการดูดซึมรับที่ไต และกรองเอาน้ำปริมาณมากออกจากร่างกายทางปัสสาวะ ส่วนปลาทะเล จะพยายามเก็บน้ำที่เข้าสู่ร่างกาย ส่วนในการดูดรับโซเดียมคลอไรด์ในไตก็จะไม่ทำหน้าที่และเสื่อมไป แต่มีส่วนดูดกลับน้ำทำหน้าที่ได้ดีแทน ขับเกลือออกมาแทน หากเหงือกและไตไม่ดีจะเป็นอย่างไร...
3. ในปลาน้ำเค็มบางชนิดยังมีอวัยวะที่เรียกว่า “Rectal Gland” เป็นส่วนที่ต่อกับทวารรวม เพื่อทำหน้าที่กำจัดเกลือที่มากเกินไปออกจากร่างกายโดยเฉพาะ
ยังมีกลไกอื่นร่วมอีก แต่ประการข้างต้นเป็นประการหลัก
ในสภาวะของโรค แม้แต่ความเครียดจากการขนส่ง การเตรียมน้ำ การให้ยา สารเคมีต่างๆ อาจจะส่งผลทำให้ร่างกายปลาอ่อนแอ การทำหน้าที่ของร่างกายขาดสมดุล หรือทำหน้าที่ไม่ดี เรียกว่า สภาวะธำรงดุลผิดปกติ มักจะเกิดปัญหาเกี่ยวกับกลไกเรื่องของเกลือไปด้วย
มาถึงเรื่องเกลือ...
เกลือในความหมายในการรักษา ก็คือ โซเดียมคลอไรด์ มีทั้งในเกลือทะเล และเกลือสินเธาว์ ปริมาณมากน้อยขึ้นอยู่กับสารประกอบผสมอื่นๆ เจือปน นิยมใช้เกลือทะเล ปัจจุบันมีการใช้ Artificial salt หรือโซเดียมคลอไรด์โดยตรง (เหมือนเกลือที่อยู่ในกระปุกน้ำเกลือ) ทั้งในการรักษาและในห้องทดลอง เตรียมอาหารเลี้ยงเชื้อจุลชีพ เกลือมีประโยชน์ต่อปลาหลายประการ... โดยเฉพาะปลาน้ำจืด...
เกลือช่วยในกรณี Osmoregulatory stress หมายถึงความเครียดที่เกี่ยวกับความเข้มข้นของอิเลกโตรไลต์หรือเกลือ ซึ่งจะทำให้กลไกร่างกายผิดปกติได้ การใส่เกลือจะช่วยลดปัญหาความเครียดในเรื่องนี้ เช่น หลังจากการขนส่งปลา เปลี่ยนถ่ายน้ำ หรือการกระทำอะไรที่มีผลทำให้ปลาเครียด เกลือช่วยกำจัดและยับยั้งโปรโตซัว เชื้อรา ปาราสิต และแบคทีเรีย (ได้ผลน้อยในแบคทีเรีย หากจะกำจัดแบคทีเรียต้องใช้ความเข้มข้นสูง แต่ปลาจะทนไม่ได้)... แค่นี้ก็เห็นว่ามันครอบจักรวาลพอดู (แต่มันก็ไม่ใช่พระเอกแบบข้ามาคนเดียวนะ ขอเตือนกันไว้ก่อน)
การให้เกลือ... มีหลายคนกล่าวถึงเปอร์เซนต์ คำนี้ในทางเภสัชหรือเคมี หมายถึงปริมาณสารคิดเป็น กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เพราะฉะนั้น หากมีคนบอกว่า 1% หมายถึง 1 กรัมใน 100 มล หรือ 10 กรัมในลิตร ซึ่งสูงมาก ดังนั้นต้องกำหนดขอบเขตเวลาของการให้ไว้ชัดเจน เพราะไม่ให้เกลือสำหรับปลาน้ำจืดสูงเกินไป (เพราะปลาพวกนี้กลไกกำจัดเกลือไม่มีประสิทธิภาพเช่นปลาน้ำเค็มไงล่ะ) หากให้กันถึง 10% ตลอดทั้งวัน ปลาตายกันพอดี
ปริมาณการให้ที่ถูกต้องเป็นดังนี้
@ ส่วนใหญ่จะแช่กันทั้งวัน ที่เรียกว่า Indefinite ในขนาด 1-5 กรัมต่อลิตร กรณีแบบนี้เพื่อกำจัดเชื้อบางส่วน รวมทั้งปรับสภาวะธำรงดุลในปลา จะช่วยลดปัญหาความเครียดจากการขนส่ง และการลงปลาใหม่ได้เช่นกัน หากจะใช้สำหรับ supportive care หรือใส่ได้เรื่อยๆ ควรจะใช้ในระดับต่ำคือไม่เกิน 3 กรัมต่อลิตร
@ 10-30 กรัมต่อลิตร แช่นาน 30 นาที แล้วเอาปลาออก ความเข้มข้นสูงๆ แบบนี้ มักจะใช้ในการกำจัดโปรโตซัว และปาราสิตบางชนิดที่เกาะบนตัว ปลาที่อ่อนแอควรใช้ปริมาณต่ำๆ และทำซ้ำในอีก 24 ชั่วโมง
@ 30 กรัมต่อลิตร แช่นาน 10 นาที สำหรับปลาที่มีน้ำหนักมากกว่า 100 กรัม @ ปลาทองและคาร์พค่อนข้างจะทนกับเกลือ สามารถใช้ขนาดสูงได้ถึง 30-35 กรัมต่อลิตร แต่ภายใน 4-5 นาทีเท่านั้นนะครับ @ ข้อควรระวัง... ปลากลุ่มแคทฟิสบางชนิดไม่ทนต่อเกลือ... การให้เกลือในปริมาณสูงเกินไป ทำให้ปลาตายได้ และเป็นการเพิ่มความอ่อนแอ เรื่องประโยชน์จากเกลือยังมีอีกมาก มีโอกาสจะมาขยายความกันต่อไป