3707 จำนวนผู้เข้าชม |
ปัญหาถุงไข่แดงเลื่อน (Yolk Sac Herniation) ในสัตว์เลื้อยคลาน
ผศ. น.สพ. ดร. สมโภชน์ วีระกุล (หมอแก้ว)
เรามักจะเห็นหลายๆกรณีศึกษา มีเนื้อเยื่อคล้ายอวัยวะภายในทะลักออกมานอกผนังหน้าท้อง ซึ่งเป็นบริเวณของสะดือ โดยธรรมชาติแล้วส่วนที่ยังคงอยู่ภายนอกนั้นไม่ควรจะเป็นอวัยวะอื่นๆ ยกเว้นถุงไข่แดงที่อาจคงค้างหรือเหลืออยู่ภายนอกเพียงเล็กน้อยได้ แต่ในสัตว์ปกติมันจะอยู่ในช่องท้องหรือซีลอม (celomic cavity) และผนังชั้นในของสะดือหรือหน้าท้องจะปิดสนิทปิดกั้นเอาไว้ แต่ส่วนที่เป็นผิวหนังจะยังเปิดให้เห็นอยู่ แล้วมันจะค่อยๆชิดและปิดสนิทในเวลาต่อมา บางชนิดแค่ไม่กี่สัปดาห์ บางชนิดอาจนานถึง 2 เดือน ขึ้นกับชนิด สายพันธุ์ อุณหภูมิที่ใช้เลี้ยง โภชนาการ อัตราการเจริญเติบโต ความสมบูรณ์ของร่างกาย
ปัญหาถุงไข่แดงเลื่อน เป็นปัญหาที่พบได้เสมอในสัตว์เลื้อยคลาน ทั้ง งู กิ้งก่า เต่า และจระเข้ ที่พบบ่อยๆ ได้แก่ งูคอร์น งูบอล จระเข้ อีกัวน่า เป็นต้น และยังพบเสมอในนก มีความเข้าใจกันว่าปัจจัยเสี่ยงมาจากการฟักไข่ที่ให้ความชื้นสูงเกินไป และอุณหภูมิในการฟักนาน เป็นที่ทราบกันดีว่าเมื่ออุณหภูมิต่ำกว่าความต้องการในการเพาะและฟักตามปกติจะทำให้ระยะเวลาในการวางไข่นานออกไป การปรับอุณหภูมิให้เหมาะสมหรือเพิ่มขึ้นจะช่วยทำให้เกิดปัญหาลดลง อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ที่พบเป็นสาเหตุหลัก
ถุงไข่แดงจะเป็นแหล่งอาหารสำคัญของตัวอ่อน โดยอยู่ระหว่างลำไส้เล็กส่วน Jejunum และ Ileum เชื่อมโดย vetelline duct เพื่อลำเลียงไข่แดงส่วนที่ไม่ละลาย (non-soluble fraction) เข้าไปดูดซึมในลำไส้เล็ก ขณะที่ส่วนที่ละลายได้ (soluble fraction) จะสามารถดูดซึมผ่านกระแสเลือดโดยตรง ขณะที่ฟักออกมาแล้ว ไข่แดงจะยังคงเหลืออยู่ และยังถูกนำไปใช้ได้นานเป็น 1-2 สัปดาห์ ก่อนจะเริ่มกินอาหารได้เอง หรือถูกป้อน สัตว์เลื้อยคลานหลายชนิดจึงไม่กินอาหารตอนแรกเกิดทีเดียว แต่จะหาที่หลบซ่อนหรือหนีไปจากรังตามสัญชาตญาณ และมีเวลาพอในการฝึกหาอาหาร
สาเหตุของการเกิดปัญหา นอกมาจากการฟักไข่ในตู้ฟักที่ให้อุณหภูมิที่ต่ำกว่าปกติ แต่จากการศึกษาหลายๆกรณีพบว่ามีการติดเชื้อก่อนการฟักตั้งแต่เปลือกไข่ หรือติดมาจากแม่โดยตรง และติดต่อไปยังเยื่อหุ้มตัวอ่อน เป็นสาเหตุสำคัญอีกสองประการ ที่ทำให้เกิดการติดเชื้อไปสู่สะดือ (navel) ทำให้เกิดการอักเสบ (omphalitis) ติดต่อไปสู่ถุงหุ้มไข่แดง และลุกลามไปยังช่องว่างภายในลำตัว เกิดการอักเสบของลำไส้ ช่องท้อง และอวัยวะข้างเคียง จนถึงภาวะโลหิตเป็นพิษ (septicemia) โดยเชื้อที่มักพบเป็นปัญหาในสัตว์เลื้อยคลาน ได้แก่ Pseudomonas aeruginasa, Aeromonas hydrophilla, Edwardsilla spp., Klebsilla spp., และตัวสำคัญที่มักพบ เช่น Salmonella spp. โดยระบุว่าชนิดที่เสี่ยง คือ ซีโรไทป์ S. Arizona ซึ่งผม พี่หมอวิชิต และคุณปวีณาผู้ชำนาญการด้านเทคนิคการแพทย์ ได้ทำการศึกษาสุ่มตรวจเชื้อชนิดนี้ในสัตว์เลื้อยคลาน 4 ภาค พบว่างูต่างประเทศที่เลี้ยงภายในประเทศไทย มีความชุกในการพบเชื้อชนิดนี้มากกว่าเต่าและกิ้งก่า
เมื่อมีการติดเชื้อที่ถุงไข่แดงแล้ว จะพบการสร้างไฟบรินหรือเยื่อเกี่ยวพันไปรอบๆถุงหุ้ม ทำให้การดูดซึมไข่แดงสู่กระแสเลือดด้อยลงหรือล้มเหลว และมักจะเกิดการหดตัวของ vitelline duct หรือท่อนำไข่ ทำให้เกิดการค้างของไข่แดงในถุง ถุงไข่แดงจึงยังคงมีขนาดใหญ่ให้เห็นทั้งในช่องท้องเองและที่เลื่อนออกมาภายนอก เชื้อแบคทีเรียจะเจริญได้ดีในถุงไข่แดงเพราะเป็นอาหารชั้นเลิศ ลักษณะของไข่แดงจึงคล้ายครีมหรือหนองข้นมากขึ้น เชื้อจะผลิตพิษ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำลูกสัตว์ตาย
ลูกสัตว์ที่มีปัญหาไข่ค้างและถุงไข่เลื่อนที่ไม่รุนแรง จะพบการไม่กินอาหาร ผอมและแคระแกร็น ถ้าไม่รีบแก้ไข จะตายได้หรือไม่เจริญเติบโต
แนวทางป้องกัน
- ศึกษาและเข้าใจระดับอุณหภูมิและความชื้นที่ใช้ในการฟักไข่ของสัตว์ชนิดนั้นๆเป็นอย่างดี แต่ในทางปฏิบัติอาจจะต้องปรับให้เหมาะกับแม่และไข่แต่ละชุด ซึ่งเป็นประสบการณ์ บางชุดเป็นไม่กี่ตัว บางชุดเป็นทุกตัว
- อาจพิจารณาทำการเพาะเชื้อจากเปลือกไข่ หากที่บ้านเกิดปัญหาซ้ำๆ หรือทำความสะอาดไข่ก่อนทำการลงตู้ฟัก เพื่อลดการปนเปื้อนเชื้อผ่านเปลือกไข่ไปยังตัวอ่อน และปนเปื้อนในตู้ฟัก บางคนล้างน้ำก็เพียงพอเพื่อลดความสกปรกจากดิน บางคนนิยมให้ disinfectants ต่างๆ
- ทำความสะอาดตู้ฟักก่อนทำการฟักไข่ เช็ดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหรือพ่นสารเคมีความเข้มข้นต่ำหากพบว่าไข่ในแต่ละชุดมีความเสี่ยงในการติดเชื้อมากกว่าปกติ มีหลากหลายวิธี บางคนใช้สารเคมีที่ใช้แช่เครื่องมือ พวกนี้จะให้ไอระเหยได้ เช่น Abreuval (hydrogen peroxide + biguanide hydrochloride) ซึ่งใช้มากในฟาร์มปศุสัตว์ สามารถใช้ฆ่าเชื้อในน้ำดื่มได้ จึงปลอดภัยมาก ละลายในน้ำ และปล่อยให้ระเหยในตู้ฟักที่อุณหภูมิฟักปกติ (ประมาณ 32 ◦C), F10 (benzalkonium chloride + polyhexamethylene biguanide) ในฟาร์มจระเข้และฟาร์มนกในต่างประเทศนิยม และ Chlohexidine ก็เลือกนำมาใช้ได้
- หลังฟักพบว่าสะดือจะยังไม่ปิด ในทางปฏิบัติมักจุ่มตัวลูกสัตว์หรือเช็ดด้วยกลุ่ม disinfectants เจือจาง เช่น quaternary ammonium, F10, บางคนใช้การตัดสะดือหรือเย็บปิด และใช้ povidone iodine เช็ดก็ทำได้
การรักษา ในกรณีที่พบถุงไข่แดงเลื่อนแล้ว
ให้ระมัดระวังการติดเชื้อ นอกจากจะติดจากเปลือกไข่หรือจากแม่ หลังจากการฟักยังติดเชื้อจากภายนอกและสิ่งแวดล้อม เพราะสะดือยังปิดไม่สนิท การทำการตัดเอาถุงไข่ออกจึงสำคัญ หรือการเย็บปิดสะดือในรายที่เปิดกว้างและทะลุถึงช่องว่างภายใน แม้ว่าในกรณีที่พบเพียงเล็กน้อยสามารถปล่อยให้แห้งและหดเองได้ก็ตาม ต้องทำการตรวจให้แน่ใจว่าเป็นเฉพาะถุงไข่แดง เพราะหลายกรณีที่บริเวณสะดือเปิดกว้าง มันจะรั้งเอาส่วนลำไส้เล็กที่ติดต่อกันนั้นออกมาด้วย ทำการตัดถุงไข่แดงตรงส่วน vitelline duct โดยทำการมัดแยกระหว่างถุงไข่และลำไส้เล็กแล้วจึงตัด ให้สำรวจการอักเสบของอวัยวะข้างเคียง หากพบมีเศษเนื้อตายให้ทำการตัดและทำความสะอาดก่อนทำการคืนเข้าไปในช่องท้องและเย็บปิดส่วนผิวหนังส่วนสะดือ ในรายที่พบการติดเชื้อแล้วให้รักษาทางอายุกรรมต่อไปจนกว่าจะหาย