16289 จำนวนผู้เข้าชม |
โรคเชื้อราในปลาน้ำจืด
โดย ผศ.น.สพ.ดร.สมโภชน์ วีระกุล
เวลาปลามีแผล เรามักจะพบปุยสีขาวไปจนถึงสีน้ำตาลเกาะฟูลอยน้ำเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เชื้อราเป็นพวกฉวยโอกาสเมื่อปลาอ่อนแอ หรือมีบาดแผล ผู้เลี้ยงต้องแยกเชื้อราออกจากโปรโตซัวบางชนิดที่ดูเหมือนปุยสำลีแบบนี้ได้ โดยการยกปลาขึ้นมาบนผิวน้ำ หากเป็นเชื้อราก็จะยุบตัว เป็นโปรโตซัวอยู่ยังไงก็เหมือนเดิม นับว่าสำคัญ เพราะจะได้รักษาถูกทาง
เชื้อราที่มักพบในปลาน้ำจืด ได้แก่ Saprolegnia spp., Aphanomyces spp. และ Achlya spp. เป็นต้น ส่วนใหญ่จะเกิดเฉพาะบริเวณผิวด้านนอก ยกเว้นตัว Aphanomyces สามารถแทรกเส้นใยเชื้อราเข้าไปในกล้ามเนื้อ และก่อให้เกิดความรุนแรงได้ จะพบเป็นแผลหลุม มักเกิดร่วมกับเชื้อแบคทีเรีย
สามารถติดเชื้อราได้ง่าย ทั้งจากเส้นใยของมันและสปอร์ที่ลอยในน้ำ มันจะลอยหาแหล่งอาหาร นั่นก็คือบาดแผลของปลา อันตรายขึ้นอยู่กับปริมาณการติดเชื้อ หากเป็นบริเวณกว้างจะทำให้ปลาเสียอิเลกโตรไลต์ และตายได้
การรักษา
การรักษาเชื้อรานั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย หากปล่อยให้ลุกลามไปมากแล้ว ยาที่ได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจ คือ
มาลาไคท์กรีน แต่ห้ามใช้ในปลาที่ใช้เป็นอาหาร เพราะเป็นสารก่อมะเร็งในคน หากจะใช้เกลือก็ได้ ตาความเข้มข้นจะสูงมากกว่าการรักษาแบคทีเรีย มักใช้รักษาในบ่อปลา แต่ก็เพียงแค่ยับยั้งเชื้อราได้ ฟอร์มาลีนก็ใช้ได้
แต่จะไม่ค่อยได้ผลกับเชื้อราบางชนิด ซึ่งนิยมใช้ในบ่อเช่นกัน ปัจจุบันมียาตัวใหม่ออกมาเพื่อใช้กับกลุ่มนี้โดยเฉพาะ เช่น Bronopol ยูจีนอล และไทโมควิโนน เป็นต้น
ขนาดที่ใช้
มาลาไคท์กรีน เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด มีหลายขนาดให้เลือก แต่ที่แนะนำคือความเข้มข้นต่ำ ขนาด 0.1 m/l แช่ทั้งวัน ทำทุก 3 วัน ทั้งหมด 3 ครั้ง (ใช้สำหรับแช่ไข่ปลาที่ติดเชื้อราได้ เปลี่ยนความเข้มข้น เป็น 1 ml แช่นาน 1 ชั่วโมง) จะเป็นพิษได้ในน้ำอ่อน และอุณหภูมิสูง เป็นพิษต่อพืชน้ำ หากบาดแผลไม่ใหญ่สามารถป้ายโดยตรงที่รอยแผลนั้นได้เลย จะดีที่สุด เตรียมยาในขนาด 100 ml/L โดยใช้ก้านสำลีชุบยาและป้ายลงที่แผล ทำทุกวัน อย่างน้อย 5 วัน จะเริ่มเห็นผล
เกลือ ต้องใช้มากกว่า 3 ml/L แช่ตลอดวัน เปลี่ยนน้ำบางส่วน แล้วลงเกลือใหม่ทุกวัน จนแผลเริ่มดี
ฟอร์มาลีน ส่วนใหญ่ใช้สำหรับแช่ไข่ปลาที่ติดเชื้อ เมื่อฟักเป็นตัวแล้ว จะทำให้ลูกปลาตายได้ จะเป็นพิษเมื่อผสมกับน้ำอ่อน หรืออุณหภูมิสูง ปลาที่ไวต่อการเกิดพิษจะเริ่มผิวซีด และอัตราหายใจผิดปกติหากจะใช้ใช้ได้ในขนาด 1ml/38 L แช่ 12-24 ชั่วโมง และต้องเปลี่ยนน้ำออก 30-70% แล้วเตรียมยาลงใหม่อีกครั้ง ทุกวัน จนอาการดีขึ้น
โบรโนพอล ขนาด 15-50 ml/L แช่นาน 30-60 นาที หากแช่ไข่ปลาต้องใช้ความเข้มข้นสูง
การรักษาเชื้อรา ต้องทำร่วมกับการรักษาโรคจากแบคทีเรีย หรือไวรัสที่เป็นสาเหตุเริ่มต้น
การป้องกันดีกว่ารักษา
เมื่อพบว่าปลามีบาดแผล ให้ผสมเกลือลงในน้ำ (อ่านเรื่องเกลือ) นอกจากจะช่วยป้องกันเรื่องอิเลกโตรไลต์ ลดความเครียดได้แล้ว ยังป้องกันเชื้อราได้ และหมั่นเปลี่ยนถ่ายน้ำให้สะอาด ก็จะไม่ค่อยพบปัญหาเชื้อรา