10169 จำนวนผู้เข้าชม |
ผลกระทบจากภาวะโรคลมร้อนกับไก่ชนมีมากแค่ไหน
โดย ผศ.น.สพ.ดร.สมโภชน์ วีระกุล
มาศึกษาหลักการทางวิชาการให้เข้าใจเสียก่อน โดยการเรียนรู้เชิงเปรียบเทียบ เมื่อมีภาวะอากาศภายนอกร้อนอย่างมาก และร่างกายไม่สามารถควบคุมความร้อนในร่างกายให้อยู่ในช่วงปกติได้ จนทำให้เกิดความร้อนของร่างกายสูงมากอย่างผิดปกติ ในคนปกติจะควบคุมความร้อนในร่างกายด้วยกลไกหลายอย่าง เพื่อให้อุณหภูมิร่างกายอยู่ในช่วง 36-37.5 องศาเซนเซียส แต่ถ้าสู้ความร้อนภายนอกที่สูงมากไม่ไหว อุณหภูมิร่างกาย (core temperature) อาจจะพุ่งสูงกว่า 40 องศาเซนเซียสจะเริ่มเกิดอันตราย ในคนพบมีการเสียชีวิตในผู้ป่วยถึง 10-50% ที่รอดจะมีอาการทางระบบประสาทถาวร 7-20% ในคนเราจะเรียกภาวะนี้ว่า โรคลมแดด ภาวะโรคลมร้อน หรือฮีทสโตรก (heat stroke) ความร้อนนอกจากเกิดจากสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเกิดได้จากการเผาผลาญอาหารในร่างกาย ซึ่งนำไปใช้เป็นพลังงานเพียงบางส่วนแต่กลับได้ความร้อนเป็นหลักที่ 70-80% และขณะที่ออกกำลังย่อมต้องการพลังงานสูงขึ้น ร่างกายจะผลิตความร้อนสูง ผู้ที่อยู่ในภาวะอากาศร้อนมากจึงเสี่ยง และยิ่งออกกำลังกายหนักก็ยิ่งมีผลมากขึ้น จึงมักพบปัญหาในกลุ่มทหารหรือนักกีฬาที่ออกกำลังกลลางแจ้ง นอกจากนี้ผู้ที่ออกกำลังกายยังมีการหลั่งฮอร์โมนพวกอิพิเนฟริน (epinephrine) ซึ่งมีกับการสร้างความร้อน
ร่างกายจะโต้ตอบอย่างไร เมื่อมีภาวะความร้อนในร่างกายมากขึ้น
เรื่องนี้สำคัญไม่แพ้อากาศร้อน เพราะเราเอาไปใช้พิจารณาสาเหตุรอบข้างเพราะอาจไม่ได้เกิดจากอากาศร้อนแต่เพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากการระบายความร้อนไม่ได้ ร่างกายจะเอาความร้อนออกด้วย 4 กลไก กลไกแรกคือการแผ่รังสี (radiation) ถ้าอากาศเย็นร่างกายจะแผ่ความร้อนออกมาได้ดี และเป็นกลไกหลัก และอาจจะมากถึง 60% ของความร้อนทั้งหมด แต่ถ้าอากาศภายนอกร้อน จะกลับกันตรงที่มันจะแผ่รังสีเข้าหาร่างกายเพิ่มขึ้น ในกรณีที่ออกกำลัง กลไกหลักจะเป็นการขับเหงื่อ หรือการระเหยกลายเป็นไอ (evaporation) แต่จะเกิดได้ก็ต่อเมื่อความชื้นในบรรยากาศต่ำกว่าน้ำหรือเหงื่อที่ออกจากร่างกาย ไม่เช่นนั้นร่างกายก็จะขับเหงื่อได้น้อย และความชื้นสัมพันธ์สูงยังมีผลกับระดับออกซิเจนในอากาศ จะทำให้ขาดออกซิเจน ร่างกายจะเกิดปัญหาอื่นๆตามมาซ้ำเติม ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปในไก่ กลไกอื่นได้แก่การนำความร้อน (conduction) เช่น การสัมผัสกับวัตถุที่เย็นกว่า จะลดความร้อนได้แต่ได้น้อย การพาความร้อน (convection) การอาศัยลมหรือน้ำในการพาความร้อน
ในไก่ชนเกิดได้จากอะไร?
เมื่อพิจารณาจากความเสี่ยงแล้ว นอกจากอากาศภายนอกจะมีความร้อนสูงและเกิดเป็นความเสี่ยงหลักแล้ว การชนหรือตีหรือการซ้อมจะกลายเป็นปัญหาหลัก เรียกว่า ภาวะโรคลมร้อนจากการออกกำลัง (exertional heat stroke) และสัมพันธ์กับภาวะขาดน้ำ (dehydration) โดยปกติร่างกายไก่จะมีอุณหภูมิที่สูงมากเป็นปกติ ทำให้เกิดความทนทานกับอากาศร้อน อุณหภูมิร่างกายปกติสูงถึง 40.6-41.7 องศาเซนเซียส แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทนได้ตลอดไป จึงมีช่วงอุณหภูมิที่อยู่อย่างสบายไม่ต่างจากคน
ภาวะโรคลมร้อนในไก่ชนนี้จึงสัมพันธ์กับการออกกำลังเป็นสำคัญและภาวะเจ็บป่วยอื่นๆ เช่น การไหลเวียนเลือดต่ำหรือผิดปกติ หรือเลือดหนืด ซึ่งอาจมาจากการขาดน้ำหรือสูญเสียขณะออกกำลังได้เช่นกัน เมื่อความร้อนในร่างกายสูงขึ้น ไก่ไม่มีต่อมเหงื่อจึงไม่สามารถใช้การระเหยไอน้ำ แต่เป็นการแผ่รังสี แต่ถ้าความร้อนในบรรยากาศสูงกว่า การแผ่รังสีก็ล้มเหลว จึงเป็นการกระพือปีกให้ลมพาความร้อน อยู่ในที่ร่ม หรือนอนทับที่เย็นเป็นการนำความร้อน และเมื่อไม่สามารถระบายความร้อนได้นานจะต้องระบายความร้อนด้วยการหายใจหอบเป็นหลัก และจะเริ่มส่งผลต่อร่างกายเป็นลำดับ
เมื่อเริ่มหายใจเร็วเพื่อระบายความร้อน จะเป็นการขับก๊าสคาร์บอนไดออกไซด์ออกมากแต่รับออกซิเจนเพิ่ม ทำให้ร่างกายในระยะแรกเกิดภาวะด่างสูงกว่าปกติ (metabolic alkalosis) แต่ในไก่ที่ออกกำลังกายจะเกิดภาวะตามมาเพราะร่างกายมีภาวะสร้างกรดแลคติก (lactic acid) สูงจากการใช้พลังงานผ่านกระบวนการไกลโคไลสิส (glycolysis) ทำให้ต่อมาร่างกายจะเกิดภาวะกรดแทน (metabolic acidosis) ไม่ว่าจะเกิดภาวะด่างหรือกรด ร่างกายก็จะล้มเหลวทั้งนั้น เพียงแต่ว่าสามารถใช้ภาวะเหล่านี้แยกภาวะโรคลมร้อนแบบทั่วไปจากภาวะที่เกิดจากการออกกำลังกายหรือชน ทำให้เกิดปอดบวม และขาดเลือดไปเลี้ยงในอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย อิเลกโตรไลต์หรือแร่ธาตุสำคัญขาดสมดุล ทำให้การทำงานของร่างกายล้มเหลวฉับพลัน
ในไก่มักจึงไม่เกิดจากภาวะโรคลมร้อนอย่างเดียวแต่เกิดร่วมกับโรคอีกโรคหนึ่งคือ กล้ามเนื้อเสื่อมจากการจับแต่จริงๆ คือเกิดจากการตีหรือชนกัน เรียกว่า Capture Myopathy จะพบกรดแลคติกสะสมในร่างกายสูง เกิดเป็นปัญหากับไต ตับ หัวใจ สมอง เกิดอาการของระบบประสาท เช่น คอบิด เดินเซกล้ามเนื้อเสื่อมจะพบอาการอ่อนเพลีย เดินเซหรือกะเผลก ลุกไม่ขึ้น อาการเกี่ยวกับไต เช่น ขี้ขาว หรือเกี่ยวกับตับ จะขี้เขียวสว่างปน ตัวแดงจัดในระยะแรกจนไปถึงซีดขาวเพราะเลือดไม่ไปเลี้ยงอวัยวะส่วนปลายหรือผิวหนัง ลำไส้อาจจะเกิดปัญหาตามมาเกิดภาวะอาหารไม่ย่อย ท้องผูกหรือท้องเสีย ซึ่งมักจะตายได้
ภาวะโรคลมร้อนจากการชน และความเสื่อมของกล้ามเนื้อมักจะมีความสัมพันธ์กัน และมีประวัติการชนอย่างหนักร่วมกับอากาศร้อน แต่หากแยกจากกันก็สามารถทำได้จากประวัติความเสี่ยง